กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานเชื่อมโยงตลาด ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ว่า ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เข้าใจโครงการเป็นอย่างดี และอยากมีส่วนช่วยเกษตรกร เพื่อปรับสมดุลการผลิตข้าว ทั้งนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ พิจารณาแนวทางผู้รับซื้อ 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การกำหนดราคารับซื้อ 2. คุณภาพผลผลิต และ 3.ขอให้โรงงานอาหารสัตว์กำหนดผู้ซื้อ ในแต่ละจุด ทุกอำเภอ โดยมีสหกรณ์ในพื้นที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงการทำงานในครั้งนี้
สำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังมีปริมาณความต้องการอีกมาก แต่การประกาศราคารับซื้อจะเป็นไปตามกลไกตลาด และไม่ต่ำกว่า 8 บาท ที่ความชื้น14.5 % ณ หน้าโรงงานอาหารสัตว์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดให้แสดงราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของผู้ประกอบการที่จะต้องระบุราคารับซื้อตามมาตรฐานความชื้นที่รับซื้อให้ชัดเจนเพื่อให้เกษตรกรมั่นใจมากขึ้น โดยกำหนดความชื้นไม่เกินร้อยละ14.5 ถึง ความชื้นร้อยละ 30 และแสดงอัตราการหักลดน้ำหนักความชื้นไว้หน้าโรงงาน และขอให้ทุกบริษัทที่รับซื้อในจังหวัดเดียวกันกำหนดมาตรฐานการรับซื้อให้เหมือนกัน ในส่วนของคุณภาพผลผลิตขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการกำหนดคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ชัดเจน เช่น เมล็ดเสีย เมล็ดเสียจากเชื้อรา เมล็ดมอดเจาะ เมล็ดแตกและเมล็ดลีบรวมกัน รวมถึงสิ่งเจือปนเพื่อให้เป็นมาตรฐานในการรับซื้อและต้องแจ้งให้เกษตรกรทราบอย่างชัดเจน หากคุณภาพมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่กำหนดผู้ประกอบการจะมีวิธีการดำเนินการหรือ รับซื้อผลผลิตอย่างไร นอกจากนี้ยังได้ย้ำไปถึงการให้สหกรณ์ในพื้นที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง กำหนดจุดรับซื้อแต่ละจุด และจะประกาศ ภายใน 25 ตุลาคมนี้ ต่อไป
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทผลิตอาหารสัตว์มีความต้องการรับซื้อข้าวโพดเพื่อมาเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์จำนวนมาก ทดแทนนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาผลผลิตข้าวโพดในไทยไม่เพียงพอ แต่เมื่อมีโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐบาล นับว่าเป็นนโยบายที่ดี ทั้งนี้ทางสมาคมจะหารือกันต่อไปเพื่อกำหนดจุดรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรว่า บริษัทใดรับจะตั้งจุดรับซื้อที่ใดบ้าง เบื้องต้นทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือว่า ให้ตั้งจุดรับซื้ออย่างน้อยอำเภอละ 1 จุด แต่หากอำเภอใดมีพื้นที่ปลูกมากจะเพิ่มจุดรับซื้อเพื่อให้สะดวกแก่เกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรที่ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่แสดงความจำนงค์รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในโครงการขณะนี้มี 13 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยฟูดส์ อาหารสัตว์ บริษัทซันฟีด บริษัทก้าวหน้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ บริษัทเบทาโกร บริษัทกรุงไทยอาหาร บริษัทแหลมทองสหการ บริษัทอาร์ที อะกริเทค บริษัทกรุงเทพโปรดิ้วส บริษัทไทยลักซ์เอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัทสีพัฒนาอาหารสัตว์ บริษัทคากิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) บริษัทซีพีเอฟ และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเปิดรับบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการอยู่ โดยจากการสำรวจล่าสุดมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 97,000 ราย ส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตร 265 แห่ง จำนวน 37,000 ราย รวมพื้นที่ที่จะปลูก 850,000 ไร่ ประมาณการณ์ว่า ผลผลิตที่จะรวบรวมได้ขณะนี้ 900,000 ตัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เตรียมจะขยายพื้นที่ปลูกนอกเหนือจังหวัดเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิม 33 จังหวัด เนื่องจากมีเกษตรกรจากจังหวัดอื่นที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพราะรัฐบาลสนับสนุนทั้งด้านการเข้าถึงแหล่งทุน การส่งเสริมความรู้และเทคโนโลยีการปลูก การทำสัญญารับซื้อล่วงหน้า การรับประกันราคาผลผลิต ตลอดจนการประกันภัยพืชผลจึงแจ้งแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ประสานมายังนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายกฤษฎาได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ และกรมชลประทาน ร่วมกับ ธ.ก.ส. ไปศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่แจ้งความจำนงค์เข้ามาเพิ่มว่า สามารถจะร่วมโครงการหรือไม่ ทั้งนี้ตามมติครม. กำหนดงบประมาณสนับสนุนพื้นที่โครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ปี 2561 จำนวน 2 ล้านไร่