กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--สถาบันอาหาร
กรมการพัฒนาชุมชน(พช.) ผนึกสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวกิจกรรมยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม (อาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร) ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา(กลุ่ม D) ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 10,000 ราย จำนวน 10,000 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี หวังสร้างมาตรฐาน "สินค้าปลอดภัย" ปราศจากสิ่งปนเปื้อน และสารพิษตกค้าง เพิ่มอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น ขยายโอกาสทางการตลาด กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี หนุนชุมชนเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวในพิธีเปิดตัวกิจกรรม "ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม" (ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร) ซึ่งเป็นกิจกรรมย่อยที่ 1 ของกิจกรรมที่ 9 ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) รวมทั้งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" ครั้งที่ 1 ว่า กิจกรรมดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นแนวคิดพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่ โดยเน้นการดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน ให้ชุมชนได้ขายสินค้า สร้างรายได้เพิ่ม นำเอาเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมมาแปลงเป็นรายได้ ส่งเสริมความเข้มแข็งและเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน
กิจกรรมย่อยที่ดำเนินงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้ผู้ประกอบการในกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา(กลุ่มD) เฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม(ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร) ให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดได้ ซึ่งได้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 51 ครั้ง มีเป้าหมายในการยกระดับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 10,000 ราย จำนวน 10,000 ผลิตภัณฑ์ ใช้ระยะเวลาดำเนินงานรวม 5 เดือน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีองค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานต่อไป ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงตลาด เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว สินค้าที่ผลิตยังไม่มีมาตรฐาน ทำให้สินค้ามีอายุการเก็บรักษาสั้น เสี่ยงต่อการปนเปื้อน จึงมุ่งเน้นให้มีการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ จัดผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อปรับปรุงและสุ่ม
เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจสอบซ้ำ ทำการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เปรียบเทียบกับมาตรฐานอ้างอิง และการออกใบรับรอง "สินค้าปลอดภัย" ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
"ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP กลุ่ม D มีจำนวนสินค้าสูงถึง 64,570 ผลิตภัณฑ์ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีภูมิปัญญา มีอัตลักษณ์ประจำแต่ละท้องถิ่นที่ถือว่าเป็นต้นทุนที่ควรนำมาส่งเสริมให้ฉายแวว เพราะนอกจากจะช่วยขยายฐานลูกค้าก่อให้เกิดรายได้จากการขายสินค้าทั้งภายในและนอกชุมชนของตนเองแล้ว ยังเป็นการปูทางไปสู่การพัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าตามเกณฑ์ข้อกำหนด ทั้งในระดับชาติและระดับสากลในอนาคต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างงาน กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี"
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวมีขั้นตอนการดำเนินงาน โดยเริ่มจาก 1)การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมาย (อาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร) เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสินค้าปลอดภัย 2)กำหนดเกณฑ์มาตรฐานและออกแบบเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อใช้ในการประเมินและออกใบรับรองมาตรฐาน โดยอ้างอิงมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น มผช., อย., วพ.(กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) เป็นต้น 3)จัดการประชุมเชิงปฏิบัติเพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมาย 4)นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการทดสอบวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ จำนวน 10,000 ผลิตภัณฑ์ 5)ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ในกลุ่มสินค้าที่ยังไม่ผ่านมาตรฐาน และกลุ่มสินค้าที่ผ่านแต่ต้องได้รับการปรับปรุง และนำมาตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง 6)นำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาหลังการให้คำปรึกษา เข้ารับการทดสอบวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการอีกครั้ง 7) จัดทำใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการพัฒนา มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์มาตรฐานอ้างอิงที่กำหนด และ8)ออกแบบตราสัญลักษณ์มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ พร้อมความหมายของตราสัญลักษณ์ เพื่อให้กรมการพัฒนาชุมชนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป