กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--เอ็ม บี เค
คราบไขมันจากอาหารในครัวเรือน เมื่อถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำจะกลายเป็นเสมือนแผ่นฟิลม์สีขุ่นปิดกั้นแสงแดดไม่ให้สาดส่องลงไปถึงท้องน้ำ ส่งผลให้กระบวนการผลิตออกซิเจนในน้ำน้อยลง สัตว์น้ำเริ่มล้มตายเพราะขาดอากาศหายใจและก่อให้เกิดจุลินทรีย์เน่าเหม็นสะสมเป็นน้ำเสียตามมา ดังนั้นการติดตั้งถังดักไขมันในทุกบ้านก่อนปล่อยน้ำมาสู่คูคลองในชุมชนจึงเป็นการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียตั้งแต่ต้นทางซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวทุกคนอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานเขตปทุมวัน, กรมควบคุมมลพิษและ มูลนิธิสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ) จัดกิจกรรม "MBK รักษ์น้ำ ชุมชนรักษ์คลอง" ส่งมอบองค์ความรู้เรื่องการจัดการน้ำเสียในครัวเรือนอย่างถูกวิธีให้แก่ชุมชน ร้านค้า และโรงเรียนในเขตปทุมวัน โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนมีส่วนร่วมในตรวจวัดคุณภาพน้ำ ปลูกฝังความรู้เรื่องการจัดการขยะที่ถูกต้อง และร่วมกันประกอบถังดักไขมันในครัวเรือนแบบง่ายๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาน้ำเสียบริเวณคูคลองในเขตปทุมวันได้อย่างยั่งยืน ณ ลานกีฬาจารุเมือง กรุงเทพมหานคร
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมชมนิทรรศการเกี่ยวกับการจัดการปัญหาน้ำเน่าเสียจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีกิจกรรมพิเศษมาให้ชาวชุมชน และนักเรียนเขตปทุมวันได้เรียนรู้ถึงที่มาและวิธีการแก้ปัญหาน้ำเสียในแต่ละภาคส่วน อาทิ การคัดแยกขยะ โดยมูลนิธิสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ),การทดลองวัดระดับคุณภาพน้ำ โดยกรมควบคุมมลพิษ และ กระบวนการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย โดยศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เป็นต้น
นางสาวกนกรัตน์ จุฑานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน "MBK รักษ์น้ำ ชุมชนรักษ์คลอง" ว่ากิจกรรมนี้ได้จัดทำขึ้นตามเจตนารมณ์ของศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ที่ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการฟื้นฟูน้ำเสียให้กับเยาวชนและชุมชนรอบศูนย์การค้า เนื่องจากปัญหาน้ำเสียในคูคลองส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตประจำวันของทุกคนในชุมชน ซึ่งทุกคนสามารถนำความรู้ดีๆ ในวันนี้ไปต่อยอดพัฒนาชุมชนของตนได้อย่างยั่งยืนผ่านการทำถังดักไขมันจากวัสดุเหลือใช้ภายในบ้าน เพื่อดักกรองเศษอาหารและแยกคราบไขมันจากการล้างจานมากักเก็บไว้ ก่อนปล่อยน้ำลงสู่คูคลองสาธารณะ โดยกิจกรรมในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน และชุมชนทั้ง 12 ชุมชนในเขตปทุมวัน รวมถึงจิตอาสา MBK Spirit ทุกคน ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมที่ดีด้วยการติดตั้งถังดักไขมันให้ครัวเรือนในชุมชนอีกด้วย
กิจกรรม "MBK รักษ์น้ำ ชุมชนรักษ์คลอง" เริ่มต้นด้วยการเวิร์คช็อปสอนวิธีจัดการน้ำเสีย และ ตรวจวัดคุณภาพน้ำร่วมกับนักเรียนในชุมชน โดย ดร.เชาวน์ นกอยู่ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ได้เผยข้อมูลว่า แหล่งน้ำที่ไหลผ่านตามเมืองใหญ่ มีชุมชนตั้งอยู่หนาแน่น และมีโรงงานส่วนมากจะเกิดปัญหาเน่าเสีย มีสีดำ และส่งกลิ่นเหม็น แต่ในบางกรณีที่น้ำมีการปนเปื้อนสารเคมี สีของน้ำจะไม่แตกต่างจากน้ำปกติเท่าไหร่นัก ดังนั้นทุกคนในชุมชนจึงจำเป็นต้องคอยสังเกตการณ์ และตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นประจำ เพื่อความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวัน
"บางชุมชนเมื่อก่อนมีบ้านตั้งอยู่ไม่กี่หลัง แต่พอเริ่มมีหมู่บ้าน และคอนโดมาก่อตั้งมากขึ้น ทำให้ปริมาณของเสียและคราบไขมันถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำมากเกินไปจนทำลายกระบวนการบำบัดตามธรรมชาติไป ดังนั้นเราจึงควรเริ่มต้นตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างง่ายๆ โดยเริ่มจากหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่รอบตัว เช่น น้ำในคลองเริ่มมีปลาตาย ส่งกลิ่นเหม็น หรือถ้ามีโรงงานมาตั้งอยู่ใกล้ๆ แล้วมีการระบายน้ำออกมาสู่แหล่งน้ำชุมชน ควรตั้งข้อสงสัยว่าน้ำนั้นจะปนเปื้อนสารเคมีหรือไม่ โดยสามารถใช้ชุดตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่าย เพื่อวัดผลค่าความเป็นกรดด่างและระดับออกซิเจนในน้ำเบื้องต้นก่อนได้ เพื่อชุมชนจะได้ทราบถึงแนวโน้มการเกิดน้ำเสียในพื้นที่พักอาศัย พร้อมร่วมมือกันในทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเสียร่วมกัน หรือติดต่อกรมควบคุมมลพิษให้เข้ามาทำการตรวจสอบในพื้นที่โดยละเอียด" ดร.เชาวน์ กล่าว
หลังจากนั้นได้มีการเสวนาถึง "มุมมองการจัดการของเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน" เริ่มจาก นางอรพินท์ แสสนธิ์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตปทุมวัน กล่าวถึงอีกหนึ่งปัญหาของคราบไขมันที่ส่งผลต่อคนเมืองโดยตรงว่า ในสถานประกอบการ โรงแรม หรือร้านอาหารขนาดใหญ่จะมีการติดตั้งบ่อดักไขมัน เพื่อจัดการสุขาภิบาลตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ในส่วนของครัวเรือนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการดักไขมันมากเท่าที่ควรจึงทำให้ตามชุมชนซอกซอยต่างๆ ในกรุงเทพมหานครเกิดปัญหาน้ำท่วมง่ายผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากคราบไขมันตามท่อระบายมีความหนาแน่นมากเกินไปก่อตัวกันเป็นของแข็งอุดตันขวางทางระบายน้ำให้ช้าลง และน้ำที่ออกมาได้ส่วนหนึ่งก็นำคราบไขมันออกมาปะปนกับแหล่งน้ำใหญ่ เข้าสู่วงจรทำลายแหล่งน้ำรอบๆ ชุมชนจนเน่าเสียในที่สุด
ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมของทุกคนในชุมชนให้หันมาใช้ถังดักไขมันเพื่อรักษาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องปลูกฝังจิตสำนึกในการรักษาแหล่งน้ำให้กับเยาวชนได้ฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัย ตามที่ นางจีรนันท์ ชะอุ่มใบ เลขาธิการสมาคมสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ) แนะนำว่า การให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเรียนรู้ปัญหามลพิษทางน้ำในชุมชน ตั้งแต่กระบวนการคิดทดลองไปจนถึงสร้างวิธีสื่อสารเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม จะทำให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่การได้รู้จักวิธีการแยกแยะน้ำที่มีคุณภาพดีและน้ำที่มีคุณภาพไม่ดีเป็นอย่างไร น้ำเสียจะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง ไปจนถึงการสืบค้นการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย เมื่อเด็กๆ ได้ทราบถึงวงจรทั้งหมดจะตระหนักได้ถึงความเป็นเจ้าของสถานที่ เกิดจิตสำนึกที่อยากดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวและเริ่มลงมือปฏิบัติจนเป็นนิสัยติดตัว เหมือนในกิจกรรมวันนี้เมื่อน้องๆ ได้ลงมือทำถังดักไขมันแล้ว ก็จะรู้สึกอยากนำผลงานของตัวเองไปทดลองใช้งานจริง ยิ่งคนในบ้านให้ความร่วมมือรับถังดักไขมันมาช่วยกันติดตั้ง จัดตารางดูแลทิ้งเศษอาหารและคราบไขมันอย่างจริงจัง ก็จะเป็นการส่งเสริมวินัยการกำจัดของเสียในครัวเรือนที่มีการนำไปปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ด้าน ดร.ประหยัด บุญคำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) บอกเล่าในมุมมองความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในการจัดการของเสียของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ว่า ในหนึ่งวันศูนย์การค้าฯ มีปริมาณน้ำเสียประมาณ 2,500 คิว ที่เกิดจากจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการและผู้ประกอบการภายในศูนย์การค้าฯ กว่า 70,000 คน ต่อวัน โดยทางศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้มีการจัดการน้ำเสียด้วยระบบบำบัดคุณภาพตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ด้วยการลำเลียงน้ำเสียที่มาจากห้องน้ำ ศูนย์อาหาร การจัดกิจกรรมต่างๆ ทั่วศูนย์การค้า นำส่งลงในลงบ่อบำบัดปรับปรุงคุณภาพน้ำให้อยู่ในมาตรฐานที่ปลอดภัย ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการนำมารดน้ำต้นไม้ และล้างทำความสะอาดพื้นถนนรอบๆ ศูนย์การค้าฯ ทั้งหมด
ปิดท้ายด้วยกิจกรรมไฮไลท์ "เวิร์คช็อปทำถังดักไขมันในครัวเรือน" โดย นายวันชัย สวัสดิ์แดง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำถังดักไขมันในครัวเรือน ได้มอบความรู้ให้ทุกคนในชุมชนได้ลงมือทำ และนำกลับไปใช้งานได้จริงในบ้าน เพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียจากต้นเหตุอย่างมีประสิทธิภาพสูง ในราคาที่ย่อมเยา ซึ่งปกติแล้วการทำบ่อบำบัดน้ำเสียในชุมชนสำหรับ 500 ครัวเรือน จะต้องใช้งบประมาณเป็นหลักล้านบาท แต่ถ้าทุกบ้านติดถังดักไขมันแบบง่ายทุกหลัง จำนวน 500 ครัวเรือน จะใช้เงินประมาณ 50,000 บาท เท่านั้น
"รูปแบบถังดักไขมันที่สาธิตการทำให้ดูในวันนี้ ทำจากวัสดุราคาหลักร้อยต้นๆ โดยเริ่มจากการนำถังน้ำ 1 ใบ มาเจาะรูติดข้อต่อเกลียวด้านใน – ด้านนอก บริเวณเลยกึ่งกลางของตัวถังขึ้นมาเล็กน้อย จากนั้นนำข้อต่อ 3 ทางมาต่อกับท่อตรงยาวจนเกือบถึงก้นถัง และติดเข้ากับข้อต่อเกลียวด้านใน ส่วนด้านนอกให้ต่อข้องอ ลงด้านล่างเพื่อใช้ต่อท่อน้ำทิ้งเชื่อมสู่ท่อระบายน้ำ ปิดฝาด้านบนถังด้วยตะแกรงพลาสติกกรองเศษอาหารให้เรียบร้อย แล้วนำถังดักไขมันวางไว้ใต้ซิงค์น้ำเพื่อรองรับน้ำจากการล้างคราบอาหารโดยตรง ซึ่งทุกครั้งที่มีการล้างจานเศษอาหารต่างๆ จะถูกกรองโดยตะแกรงด้านล่าง ส่วนคราบไขมันจากอาหารเมื่อไหลลงถังจะลอยเหนือน้ำตามธรรมชาติ ปากท่อตรงที่อยู่ต่ำที่สุดจะช่วยดูดน้ำที่ปราศจากคราบไขมันระบายออกมาทางปากท่อน้ำทิ้งด้านนอกในรูปแบบของกาลักน้ำ โดยคราบไขมันและเศษอาหารที่กรองออกมาได้นั้นสามารถนำไปเทใส่หลุมดินรอบๆ บ้าน แล้วฝังกลบด้วยเศษใบไม้แห้งและดิน เพื่อกระตุ้นกระบวนการย่อยสลายให้เศษอาหารกลายสภาพเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติที่ไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และไม่สร้างมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ" นายวันชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำถังดักไขมันในครัวเรือนให้คำแนะนำทิ้งท้าย