กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานในเก้าเดือนแรกของปี 2561 จำนวน 104,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การเติบโตของรายได้ยังคงดีอยู่แม้ว่าจะได้มีการยกเลิกค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับสูง จากการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่และการขยายฐานลูกค้าบนระบบดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ของธนาคารภายใต้โครงการ SCB Transformation ทั้งนี้ ธนาคารมีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) ในไตรมาส 3 ของปี 2561 จำนวน 10,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิในเก้าเดือนแรกของปี 2561 จำนวน 32,984 ล้านบาท ลดลง 2.9% จากปีก่อน
อัตราส่วน NPL ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 2.80% ลดลงเล็กน้อยจาก 2.83% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 ทั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5,134 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2561 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับเพิ่มขึ้นเป็น 142.5% นอกจากนี้ เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 17.6%
ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2561
ในไตรมาส 3 ของปี 2561 รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสก่อน และ 0.1% จากปีก่อน เป็นจำนวน 34,722 ล้านบาท โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 24,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากสินเชื่อที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 5.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวดีขึ้นจากการบริหารจัดการต้นทุนเงินฝากอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 10,332 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 9.5% จากปีก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และการลดลงของรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย การลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งได้รับการชดเชยจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากเงินลงทุน และกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังอยู่ในระดับสูง จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงการ SCB Transformation ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในไตรมาส 3 ของปี 2561 เพิ่มขึ้น 13.6% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการดำเนินงานในโครงการ Transformation รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีใหม่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของธนาคาร และการขยายฐานลูกค้าใหม่บนระบบดิจิทัล
โครงการ SCB Transformation
โครงการ SCB Transformation มีความคืบหน้าอย่างเด่นชัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของลูกค้าที่ใช้งานบนระบบดิจิทัล นับตั้งแต่ธนาคารได้เปิดตัวแพลตฟอร์มโมบายแบงก์กิ้งใหม่ "SCB EASY" ธนาคารได้ผลตอบรับอย่างดี ซึ่งในไตรมาส 3 ของปี 2561 จำนวนลูกค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่นี้มีผู้ใช้บริการประมาณ 7.9 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวน 5.5 ล้านคน ณ สิ้นปี 2560 รวมทั้งมีจำนวนร้านค้าที่ใช้บริการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบแม่มณี (QR merchant) มากกว่า 1 ล้านร้านค้าในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี
ท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนองค์กร ธนาคารได้รับการยอมรับสำหรับความสำเร็จทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนระดับโลกดาวโจนส์ ประจำปี 2561 (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ในกลุ่มดัชนีโลก และดัชนีตลาดเกิดใหม่ หมวดธุรกิจธนาคาร ความสำเร็จนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร และมุ่งสู่การเป็น "ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด" สำหรับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของธนาคาร
นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "ด้วยลูกค้านิยมใช้บริการธนาคารดิจิทัลมากขึ้น โครงการ SCB Transformation และการลงทุนของธนาคารในการสร้างความสามารถใหม่จะมุ่งเน้นสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดและมอบคุณค่าที่น่าสนใจให้กับลูกค้า ด้วยบริการในรูปแบบที่ "ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า และถูกกว่า" ที่ผ่านมาธนาคารได้ประสบความสำเร็จในการเปิดตัว SCB EASY และ SCB Business Anywhere ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลรูปแบบใหม่สำหรับลูกค้าบุคคล และลูกค้าธุรกิจ ความพยายามเหล่านี้และโครงการที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางภายใต้โครงการ Transformation ส่งผลให้ฐานลูกค้าดิจิทัลของธนาคารขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีความผูกพันในการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่สูงขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว โครงการ Transformation จะช่วยให้ธนาคารยังคงบทบาทและความสัมพันธ์กับลูกค้า และประสบความสำเร็จภายใต้การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจธนาคาร"
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร ก่อตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตในปี พ.ศ. 2449 โดยเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกของประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 ธนาคารมีมูลค่าตลาดรวม (Market Capitalization) สูงเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มสถาบันการเงิน (506 พันล้านบาท) มีเครือข่ายสาขาและจุดให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ (สาขาจำนวน 1,028 สาขา หากรวมศูนย์บริหารความมั่งคั่ง ศูนย์ธุรกิจเอสเอ็มอี และ Service Center จำนวนสาขารวมทั้งสิ้นจะเป็น 1,045 สาขา) นอกจากนี้ ยังมีศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 72 แห่ง และเครื่องเอทีเอ็ม 9,564 เครื่อง) เพื่อให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าธุรกิจขนาดกลาง/ขนาดย่อม และลูกค้าบุคคลด้วยขนาดสินทรัพย์ 3,097 พันล้านบาท สามารถเรียกดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.scb.co.th