กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,081 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 13 – 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
ช่องทางการติดตามข่าวสารการท่องเที่ยวของประชาชน มากที่สุด คือ ร้อยละ 95.5 ระบุ โทรทัศน์ รองลงมา ร้อยละ 59.3 ระบุเฟสบุค ร้อยละ 34.5 ระบุ ไลน์ ร้อยละ 24.5 ระบุ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 26.1 ระบุ อื่นๆ เช่น วิทยุ เวบไซต์สำนักข่าว เป็นต้น
เมื่อถามถึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.0 ระบุว่าเหมือนเดิม ถึง แย่ลง เช่น การจราจร ความปลอดภัย ความสะอาดตามแหล่งท่องเที่ยว การให้บริการ และเรื่องยาเสพติด เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 48.0 ระบุดีขึ้นกว่าแต่ก่อน นอกจากนี้ เมื่อถามถึงประโยชน์ที่ประชาชนและชุมชนได้รับจากการมีนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยจำนวนมาก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.6 ระบุ ได้รับประโยชน์ค่อนข้างน้อย ถึง ไม่ได้รับประโยชน์เลย ในขณะที่ ร้อยละ 15.4 ระบุ ได้รับประโยชน์ค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกตามกลุ่มฐานสนับสนุนรัฐบาลของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ทุกกลุ่มส่วนใหญ่ร้อยละ 80.0 ขึ้นไประบุได้รับประโยชน์ค่อนข้างน้อย ถึง ไม่ได้รับเลย ได้แก่กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.5 ร้อยละ 85.3 ของกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 80.0 ของกลุ่มพลังเงียบระบุได้รับประโยชน์ค่อนข้างน้อยถึงไม่ได้เลยจากการมาท่องเที่ยวประเทศไทยของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคงต้องปรับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนต่าง ๆ ให้ประชาชนคนไทยและชุมชนได้รับประโยชน์ หรือทำให้เห็นว่า "คนไทยและชุมชนไทย (Thais and Thai Communities)" ได้รับประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐในเรื่องการท่องเที่ยวไทย มากกว่า คนชาติอื่น ๆ มาแย่งงานคนไทยทำ และธุรกิจห่วงโซ่กับการท่องเที่ยวต้องชี้ให้เห็นได้ว่าผู้ประกอบการคนไทยได้รับประโยชน์แท้จริงมากกว่าการสร้างภาพเพียงอย่างเดียวว่าการท่องเที่ยวไทยสามารถหารายได้เข้าประเทศจำนวนมากแต่รายได้เหล่านั้นไม่ได้ตกอยู่ในมือของคนไทย ชุมชนคนไทยและผู้ประกอบการธุรกิจไทยอย่างที่ควรจะเป็น