กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ขึ้นทะเบียน สุนัข – แมว แก้ไข หรือ ภาระ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16 – 18 ตุลาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจาย ทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,271 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสุนัข และแมว เพื่อแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัด และป้องกันการเลี้ยงสัตว์อย่างปล่อยปละละเลย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเลี้ยงสุนัข – แมว ของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.27 ระบุว่า เลี้ยงสุนัข – แมว และร้อยละ 46.73 ระบุว่า ไม่ได้เลี้ยงสุนัข - แมว
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสุนัข – แมว เพื่อแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัด และป้องกันการเลี้ยงสัตว์อย่างปล่อยปละละเลย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.69 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เป็นเพียงการหารายได้ของรัฐมากกว่า ยังไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน อาจทำให้เกิดปัญหาการทิ้ง หรือกำจัดสุนัขและแมว เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ และร้อยละ 48.31 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง และจะได้มีการบริหารจัดการที่ดีและเป็นสัดส่วน
สำหรับความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนสุนัข – แมว เป็นจำนวนเงิน 450 บาท/ตัว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.71 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะ ไม่ควรมีค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน เรียกเก็บเป็นจำนวนเงินที่แพงเกินไป และสำหรับคนที่มีสุนัข – แมว เป็นจำนวนมาก อาจจะไม่มีเงินมากพอที่จะนำมาลงทะเบียนได้ทั้งหมด และจะทำให้เกิดการนำสุนัข – แมว มาทิ้งตามสถานที่ต่าง ๆ รองลงมา ร้อยละ 16.21 ระบุว่า เหมาะสม และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ซึ่งผู้ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนสุนัข – แมว เป็นจำนวนเงิน 450 บาท/ตัว ไม่เหมาะสม นั้น พบว่า ราคาที่คิดว่าเหมาะสม ร้อยละ 41.73 ระบุว่า ขึ้นทะเบียนฟรี ร้อยละ 45.40 ระบุว่า ไม่เกิน 100 บาท ร้อยละ 10.71 ระบุว่า ไม่เกิน 200 บาท ร้อยละ 1.69 ระบุว่า ไม่เกิน 300 บาท และร้อยละ 0.47 ระบุว่า ไม่เกิน 400 บาท
เมื่อถามถึงความเหมาะสมของค่าปรับในกรณีฝ่าฝืนการขึ้นทะเบียนสุนัข – แมว เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 25,000 บาท/ตัว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.37 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะ ไม่ควรมีค่าปรับ เรียกเก็บแพงเกินไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ รองลงมา ร้อยละ 14.16 ระบุว่า เหมาะสม และร้อยละ 0.47 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ซึ่งผู้ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการฝ่าฝืนการขึ้นทะเบียนสุนัข – แมว เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 25,000 บาท/ตัว ไม่เหมาะสม นั้น พบว่า ราคาที่คิดว่าเหมาะสม ร้อยละ 45.53 ระบุว่า ไม่ควรเสียค่าปรับเลย ร้อยละ 50.14 ระบุว่า ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 3.78 ระบุว่า ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 0.46 ระบุว่า ไม่เกิน 15,000 บาท และร้อยละ 0.09 ระบุว่า ไม่เกิน 20,000 บาท
สำหรับการขึ้นทะเบียนสุนัข – แมว จะช่วยแก้ปัญหาสุนัขและแมวจรจัด และป้องกันการเลี้ยงสัตว์อย่างปล่อยปละละเลยได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 35.48 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดและป้องกันการเลี้ยงสัตว์อย่างปล่อยปละละเลยได้ดีขึ้น ร้อยละ 35.41 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดและป้องกันการเลี้ยงสัตว์อย่างปล่อยปละละเลยได้เท่าเดิม ร้อยละ 28.09 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดและป้องกันการเลี้ยงสัตว์อย่างปล่อยปละละเลยได้แย่ลง และร้อยละ 1.02 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัด และป้องกันการเลี้ยงสัตว์อย่างปล่อยปละละเลย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.02 ระบุว่า ฉีดวัคซีนและทำหมันสุนัขและแมวฟรีทั้งประเทศ รองลงมา ร้อยละ 34.85 ระบุว่า ปลูกจิตสำนึกให้ผู้เลี้ยงสุนัขและแมวมีความรับผิดชอบและรู้วิธีการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้อง ร้อยละ 24.00 ระบุว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยฝึกอบรมการฉีดวัคซีนและวิธีการทำหมันให้แก่ประชาชนที่สนใจสามารถทำเองได้ ร้อยละ 17.47 ระบุว่า มีศูนย์พักพิงสุนัขและแมวที่เพียงพอ มีมาตรฐาน ร้อยละ 17.31 ระบุว่า จัดอบรมผู้เลี้ยงให้มีมาตรฐานและคุณสมบัติในการดูแลสัตว์เลี้ยง ร้อยละ 3.46 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ จัดตั้งหน่วยงานดูแลรับผิดชอบโดยตรง เช่น รับข้อร้องเรียน ทำหมัน ฉีดยา จำกัดจำนวนในการเลี้ยงสัตว์ของแต่ละบ้าน และลดอัตราการขึ้นทะเบียนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนให้ความร่วมมือ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และร้อยละ 3.07 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 9.44 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.17 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 31.87 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 50.67 เป็นเพศชาย และร้อยละ 49.33 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 6.61 มีอายุ 15 – 25 ปี ร้อยละ 13.77 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.24 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 35.56 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 22.51 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.31 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 95.12 ระบุว่า นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.68 ระบุว่า นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.71 ระบุว่า นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.49 ไม่ระบุศาสนา
ตัวอย่าง ร้อยละ 22.42 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 72.46 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.54 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.58 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 29.74 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.99 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.47 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 29.27 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.48 จบการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.05 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.75 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.79 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.75 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.87 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.37 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.20 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.91 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 2.20 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 14.55 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 25.10 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.96 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.90 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.22 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.95 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.32 ไม่ระบุรายได้