กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--ไอ แอมม์ ซูเปอร์ พีอาร์
จากข้อมูลสถิติคนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก ในขณะที่สื่อโซเชียลมีเดียที่เด็กและเยาวชน วัยต่ำกว่า 18 ปี ใช้มากที่สุดคือ Youtube (ข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 โดย ETDA) โครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย โดยการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา จึงได้เกิดแนวคิดจัดโครงการ Young Happy Creator เปิดรับเยาวชนวัย 10-14 ปี ร่วมกิจกรรมในการเป็น Youtuber อย่างสร้างสรรค์ หวังส่งเสริมทักษะรู้เท่าทันสื่อ ติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กไทยเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ รู้จักใช้สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม
สิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย ผู้จัดการโครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย กล่าวถึงความสำคัญของโครงการว่า "โครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทยเป็นโครงการที่มุ่งสร้างจิตอาสาเพื่อสังคมอยากให้ทุกคนเห็นว่าการทำดีเป็นเรื่องง่ายด้วยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับคนในแต่กลุ่มหรือช่วงวัย สำหรับโครงการ Young Happy Creator เกิดขึ้นมาเพราะเราเห็นว่าสถิติเด็กใช้ Youtube มีสูงมาก เราจะปิดกั้นไม่ให้เด็กใช้เลยคงเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นถ้าเด็กจะใช้สื่อ Youtube ก็น่าจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ เป้าหมายเราอยากจะให้เด็กเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ รู้เท่าทันสื่อ ทำสื่อได้ ใช้สื่อเป็น อยู่กับสื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์"
ในขณะที่ ศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์การใช้สื่อของเด็กวันนี้ว่า "ทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อได้ การรู้เท่าทันสื่อวันนี้คงไม่ได้มีความหมายแค่การเลือกเชื่อ เลือกใช้ เลือกแชร์เท่านั้น แต่หมายถึงการที่จะต้องสามารถเป็นนักสร้างสื่อที่ไปช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น วันนี้เราต้องสร้างพลังบวกให้เด็ก ให้แนวคิดเขาว่าถ้าอยากจะเป็น Youtuber อย่ามองแค่เรื่องดังหรือรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ขอให้มองอย่างรอบด้าน ให้คลิปที่สร้างสรรค์ออกมาเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นปัญญาให้กับสังคมด้วย"
ด้าน ไชยอันต์ มณีชนธัญวรกุล หรือ พี่แบงก์ จาก Online Station วิทยากรที่มาแนะนำเรื่องของการเป็น Youtuber อย่างสร้างสรรค์ให้กับน้อง ๆ กล่าวว่า "เด็กกลุ่มวัย 10-14 ปีเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ดู Youtube มากที่สุด ปัจจุบันอาชีพ Youtuber กลายเป็นอาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่ แต่มันมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ เพราะฉะนั้นวันนี้เลยอยากจะมาสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ให้เขามองเห็นพลังของสื่อตรงนี้ นอกจากทำสื่อเป็นแล้ว ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมด้วย ทุกคลิปที่ทำออกไป ต้องพยายามแทรกประโยชน์เข้าไปด้วย ยกตัวอย่างอาจจะทำคลิปเก็บขยะ หรือคลิปเซอร์ไพร้ส์คุณพ่อคุณแม่ก็แทรกเรื่องของความกตัญญูสื่อเหล่านี้ถ้าใช้ให้เป็นประโยชน์
มันจะทำให้คนคล้อยตามไปในทางที่ดีได้"
สำหรับเด็ก ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมอย่าง น้องโมโม่ – ด.ญ.มัชฌิมา ดุรงค์วิริยะ และ น้องยอด – ด.ช.พัสกร พึ่งสมวงศ์ ต่างกล่าวถึงความรู้สึกว่า ดีใจที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะชอบดู Youtube กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้การทำคลิป และเมื่อกลับไปก็จะไปเปิดช่องของตัวเอง โดยจะเป็นช่องที่ไม่พูดคำหยาบ ให้ความเพลิดเพลิน และก็เป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ที่ได้ดู