กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ในนามทีมไทยแลนด์ จัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ณ งานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติแห่งโตเกียว (TIFFCOM 2018) ในงานตลาดอุตสาหกรรมสารัตถะญี่ปุ่น (Japan Content Showcase 2018) ระหว่างวันที่ 23 – 25 ตุลาคม 2561 ณ Sunshine City Convention Center อิเคะบุคุโระ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศและสร้างจุดยืนที่แข็งแกร่งในเวทีโลก รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการผลิตผลงานภาพยนตร์ของผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย ทั้งในด้านการอุดหนุนการผลิต การเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์สู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (Film Incentive Measures : Cash Rebate) โดยนำกิจกรรมที่น่าสนใจไปเผยแพร่แก่นักลงทุนนานาชาติ
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า ปีนี้ วธ.ได้นำผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์ ผู้ผลิตรายการและละครโทรทัศน์ และผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีไทย เข้าร่วมกิจกรรมการนำเสนอโครงการสร้างภาพยนตร์เพื่อหาผู้ร่วมลงทุน ณ คูหาประชาสัมพันธ์ประเทศไทย (Content Thailand Pavilion) ในงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติแห่งโตเกียว (TIFFCOM 2018) 4 หน่วยงาน คือ 1.บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด นำภาพยนตร์ไทยไปจัดจำหน่าย 3 เรื่อง ได้แก่ BROTHER OF THE YEAR "น้อง.พี่.ที่รัก" และโครงการภาพยนตร์ 2 เรื่อง ของผู้กำกับชื่อดัง คือ นายภาคภูมิ วงศ์ภูมิ และนายชยนพ บุญประกอบ 2. บริษัท วี ซีเนมา จำกัด นำภาพยนตร์ไทย 5 เรื่อง ไปจัดจำหน่าย ได้แก่ The unreasonable man ไม่รู้มันคืออะไร แต่ชอบ, อยุธยาที่ไม่รู้จัก The untold story of Ayutthaya, บองสรัณโอน คนรักผี, โรงเรียนผี และ Million Memories "ต่าง" 3.บริษัท ดราเมจิก จำกัด นำละครไปจัดจำหน่าย 3 เรื่อง ได้แก่ สิงห์รถบรรทุก, สารวัตรเถื่อน, หักลิ้นช้าง และภาพยนตร์ 1 เรื่อง ได้แก่ The Forest และ 4.สมาคมการค้าผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีไทย นำสารคดีไทยไปจัดจำหน่าย 4 เรื่อง ได้แก่ Elephant Checkpoint, Creepy Crawly Super foods, Tipitaka The Living Message และThailand Grand Space
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติแห่งโตเกียว (TIFFCOM 2017) ปีที่ผ่านมา มีผู้แทนบริษัทด้านคอนเทนต์จากหลายประเทศเยี่ยมชมคูหาประเทศไทยกว่า 650 ราย มีจำนวนผู้สอบถามข้อมูลโครงการสร้างภาพยนตร์ เทศกาลภาพยนตร์ข้อมูลการติดต่อบริษัทด้านคอนเทนต์ และ การถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย จำนวน 122 ราย และมีการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการของไทย 4 ราย รวมทั้งสิ้น 86 การเจรจา มูลค่าการเจรจาธุรกิจกว่า 89 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นสนใจคอนเทนต์ไทยมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอินเดีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีผู้ประกอบการจากเอเชียให้ความสนใจผู้ประกอบการคอนเทนต์ไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเปิดตลาดในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้แสดงผลงานให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก และส่งเสริมให้บุคลากรในวงการภาพยนตร์เกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า รวมทั้งเปิดเวทีให้ได้แสดงผลงานสู่ระดับสากล