กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--อพท.
อพท. เตรียมลุยเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา เสริมศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนา "มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ประเดิมเชียงราย ตั้งเป้า 10 แห่งในปี 2562
ดร.พรสุข จงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว (สพข.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2562 จะขยายการดำเนินงาน"มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" (Sustainable Tourism Management Standard: STMS) หรือเรียกว่า "อพท. น้อย" ออกไปยังเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) โดยเริ่มต้นตั้งเป้าพัฒนาให้กับหน่วยงานในจังหวัดเชียงรายเป็นเขตแรก จำนวน 10 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
"ต้นเดือนพฤศจิกายน อพท. จะนำทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย พร้อมเชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเป้าหมายมาหารือร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจในหลักการ เตรียมวางแผนการทำงานร่วมกันต่อไป"
สำหรับ STMS คือแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวคิดและแนวปฏิบัติสากลซึ่งใช้เป็นเครื่องมือ ใช้นำไปพัฒนาให้ความรู้กับหน่วยงานหรือองค์กรให้สามารถจัดการแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวให้กับชุมชนในพื้นที่ของตน โดยสามารถกำหนดแนวทางในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนภาคีให้ร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนและพร้อมรับมือต่อความเปลี่ยนแปลง โดย อพท. พัฒนาขึ้นบนหลักการ PDCA (Plan-Do-Check-Act) คือ วางแผน ปฏิบัติ ตรวจสอบ และปรับปรุง เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารให้ดียิ่งขึ้น ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมทั้งยังช่วยค้นหาปัญหาและอุปสรรคในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบ
"ความสำคัญของการใช้มาตรฐาน คือการเห็นถึงผลที่เกิดจากการดำเนินการและนำไปสู่การปรับปรุงศักยภาพการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจัยของความสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของหน่วยงานที่จะรับไปดำเนินการต่อ"
ผอ.สพข. กล่าวว่า การดำเนินงานตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปัจจัยสำคัญก็คือจะต้องมีการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว มีการจัดการด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน สนับสนุนศักยภาพชุมชน จัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสม ส่งเสริมการตลาด ติดตามความเปลี่ยนแปลงจากการท่องเที่ยว เผยแพร่แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังภาคีที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความรู้ความสามารถ และความตระหนักให้บุคลากร ตลอดจนสื่อสารและการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนจากช่องทางต่างๆ ติดตามผลให้เป็นไปตามทิศทาง วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนปรับปรุงและทบทวน การดำเนินงานให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
การริเริ่มโครงการ อพท. น้อย เนื่องมาจาก อพท. เพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถดำเนินงานได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะและผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะขยายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังองค์กรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล เป็นต้น อพท. จึงพัฒนา STMS ให้เป็นเกณฑ์ที่ใช้พัฒนาให้แก่หน่วยงาน องค์กร ได้นำไปใช้นำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองในเรื่องของการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 พัฒนาให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 38 แห่ง สามารถผ่านการประเมินตามมาตรฐานฯ ได้แก่ องค์กรในจังหวัดเลย จำนวน 22 แห่ง จังหวัดสุโขทัย 9 แห่ง จังหวัดน่าน 4 แห่ง จังหวัดชลบุรี 2 แห่ง และจังหวัดสุพรรณบุรี 1 แห่ง และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการปฏิบัติตามมาตรฐานฯ ดังกล่าว อพท. ได้ติดตามทวนสอบการดำเนินงานตามมาตรฐานแต่ละองค์กรที่สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์มาตรฐานในทุกๆ ปี
ล่าสุดปี พ.ศ. 2561 STMS ของ อพท. ยังได้รับรองมาตรฐานระดับสากลจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council: GSTC) ได้ให้การยอมรับมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. กับหลักเกณฑ์ของ GSTC (GSTC – Recognized) ว่า "มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard: STMS)" ของ อพท. เทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวของ GSTC (equivalent to the GSTC Destination Criteria) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานฉบับแรกของประเทศไทย