กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะสังเกตอาการพืชขาดธาตุอาหาร ใช้ปุ๋ยให้ตรงความต้องการของพืชลดต้นทุนไม่จำเป็น
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำ เกษตรกรสังเกตอาการพืชขาดธาตุอาหาร โดยมีธาตุอาหารหลักที่สำคัญคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และธาตุอาหารรองคือ แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน ซึ่งธาตุอาหารที่กล่าวมานี้ จำเป็นต่อการเจริญเติมโตของพืช
การสังเกตให้ดูลักษณะที่ใบ หากมีลักษณะผิดไปจากใบเขียวปกติ ในลักษณะต่าง ๆ กัน จำเป็นต้องให้ธาตุอาหารที่แตกต่างกัน เพื่อให้พืชกลับมาเจริญเติบโตได้เป็นปกติ ดังนี้ 1. ใบขาว/เหลือง ให้เติมธาตุ N(ไนโตรเจน) 2. ใบใหม่บิดเบี้ยว ให้เติมธาตุ Ca(แคลเซียม) หรือให้ลดธาตุ K(โพแทสเซียม) และ Mg(แมกนีเซียม) 3. ใบซีดขาว ให้เติมธาตุ Fe(เหล็ก) 4. ใบแก่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงปนน้ำตาล ให้เติมธาตุ P(ฟอสฟอรัส) 5. ใบซีดขาวแต่เส้นใบเขียว ให้เติมธาตุ Mg(แมกนีเซียม)
6. อาการเป็นที่ใบแก่มีอาการสีเหลืองและตาย ให้เติมธาตุ N(ไนโตรเจน) 7. ใบมีจุดสีเข้มที่เนื้อใบตาย กระจายเป็นจุด ให้เติมธาตุ K(โพแทสเซียม)
หากพืชขาดธาตุใดธาตุหนึ่งหรือได้รับธาตุใดธาตุหนึ่งมากเกินไป จะทำให้ผลผลิตของพืชลดลงการลงทุนใส่ธาตุอาหารให้แก่พืช จึงต้องวิเคราะห์ถึงความต้องการของพืช เนื่องจากหากลงทุนในธาตุใดธาตุหนึ่งเกินความจำเป็นของพืช นอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการลงทุนปลูกพืชแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผลผลิตของพืชด้วย กรมส่งเสริมการเกษตรจึงแนะนำให้สังเกตและ ให้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของพืช โดยเกษตรกรสามารถเข้ามารวมกลุ่มเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เพื่อเรียนรู้การใช้ค่าวิเคราะห์ดิน การกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนเทคนิคต่าง ๆในการปลูกพืชอย่างเหมาะสม