กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 80.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 78.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 5.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 86.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 2.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 96.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Joint Organization Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ในเดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่บริษัท Saudi Aramco ของซาอุดิอาระเบียรายงานโครงการขยายกำลังการส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือ Yanbu ฝั่งตะวันตกออกสู่ทะเลแดง แล้วเสร็จ สามารถส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมส่งออกได้ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นทางเลือกในการระบายน้ำมันดิบ นอกเหนือจากการส่งออกทางฝั่งตะวันออก ผ่านช่องแคบ Hormuz
- ผู้ผลิตในตะวันออกกลางต่างเพิ่มอุปทานน้ำมัน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรอิหร่าน อาทิ บริษัทน้ำมันแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ Abu Dhabi National Oil Co. (ADNOC) ผลิตน้ำมันดิบชนิดใหม่ ชื่อ Umm Lulu (API 38.7 และ 0.7 %S) โดยมีกำลังการผลิตเบื้องต้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค. 61 และ บริษัท Kuwait Petroleum Corp. (KPC) ของคูเวตผลิตน้ำมันดิบชนิดใหม่ Super Light Crude (API 48 และ 0.4 %S) เพื่อเป็นทางเลือกทดแทน คอนเดนเสทจากอิหร่านให้กับตลาดเอเชีย อาทิ เกาหลีและญี่ปุ่น
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 416.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือน
- EIA คาดปริมาณการผลิต Shale Oil จาก 7 แหล่งผลิตสำคัญของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 61 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- 20 ต.ค. 61 ทางการซาอุดิอาระเบียยอมรับ นาย Jamal Khashoggi นักหนังสือพิมพ์ Washington Post ชาวซาอุฯ ซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ หายสาบสูญจากสถานกงสุลซาอุฯ ในตรุกี เสียชีวิตจากการทะเลาะวิวาท ซาอุฯ สั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 5 นาย และจับกุมเจ้าหน้าที่ 18 นาย อย่างไรก็ดีผู้นำนานาชาติยังคงเคลือบแคลงว่ามกุฎราชกุมาร Mohammed Bin Salman มีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ Saudi Press Agency (SPA) ระบุว่าซาอุฯ พร้อมตอบโต้มาตรการลงโทษ หรือคว่ำบาตรจากต่างประเทศ โดยสร้างแรงสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกซึ่งโดยนัยหมายถึงการใช้น้ำมันเป็นอาวุธ
- Reuters ระบุปริมาณส่งออกน้ำมันดิบอิหร่าน ช่วงวันที่ 1-14 ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 1.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่งออกไปยังจีน อินเดียและตุรกี ลดลงจากเดือน เม.ย. 61 ที่ส่งออก 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านเมื่อเดือน พ.ค. 61)
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics) รายงานปริมาณนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.9% มาอยู่ที่ 12.54ล้านบาร์เรลต่อวัน ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นาย Steven Mnuchin ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านจะต้องลดปริมาณนำเข้าราว 20% เมื่อเทียบกับมาตรการคว่ำบาตรในสมัยนาย Barack Obama อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2558 อีกทั้งนาย Mnuchin ยังย้ำว่า แม้ในเดือน พ.ย. 61 นี้ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะไม่ถูกจำกัดอย่างสิ้นเชิง แต่สุดท้ายแล้วอิหร่านจะไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้แม้แต่น้อย ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับองค์กร SWIFT ที่ทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ในการตัดอิหร่านออกจากระบบดังกล่าวเช่นเดียวกับเมื่อการคว่ำบาตรรอบก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือน ส.ค. 61 ทางยุโรปมีการหารือเพื่อหาช่องทางในการทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่านโดยไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐฯ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ทางด้านกลุ่มผู้ผลิต OPEC และนอกกลุ่ม (Non-OPEC) ล่าสุด Reuters รายงานโดยอ้างอิงเอกสารภายในของกลุ่ม OPEC ว่าปริมาณการผลิตในเดือน ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นเพียง 720,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 61 หลังการประชุมกลุ่มที่มีมติจะปรับเพิ่มราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับการผลิตของ OPEC ประเทศซาอุดีอาระเบีย อิรัก คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่อิหร่าน เวเนซุเอลา และแองโกลาลดลง และNon-OPEC มีเพียงรัสเซียประเทศเดียวที่ผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ อาทิ คาซัคสถาน เม็กซิโก และมาเลเซียผลิตลดลง ให้จับตามองประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ หลังยุโรปเข้าร่วมกดดันซาอุดีอาระเบียเพื่อหาข้อเท็จจริงของการฆาตรกรรมนักข่าว นสพ. Washington Post นาย Khashoggi โดยนายกรัฐมนตรีเยอรมนี นาง Angela Merkel กล่าวว่าเยอรมนีจะไม่ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับซาอุดีอาระเบียจนกว่าประเด็นดังกล่าวจะคลี่คลาย อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการทบวงพลังงานโลก (IEA) นาย Fatih Birol กล่าวยังไม่เห็นความเสี่ยงว่าซาอุดีอาระเบียจะลดการส่งออกน้ำมันดิบเพื่อตอบโต้แรงกดดันจากนานาประเทศในสัปดาห์นี้ทางเทคนิคคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 77.0-82.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 67.0-72.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.0-80.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจาก Platts ประเมินปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินจากยุโรปสู่เอเชีย ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย ในเดือน ต.ค. 61 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.43% มาอยู่ที่ 9.42 ล้านบาร์เรล ประกอบกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ADNOC) เปิดเผยว่าจะกลับมาดำเนินการหน่วย Residue Fluid Catalytic Cracker หรือ RFCC (กำลังการผลิต 127, 000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นน้ำมันRuwais (กำลังการกลั่น 800,000 บาร์เรลต่อวัน) ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2561 เร็วกว่าเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเป็นไตรมาสที่ 1/62 ซึ่งจะทำให้ ADNOC ส่งออกน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น และ National Iranian Oil Products Refining and Distribution Co. ของอิหร่านเปิดเผยว่าโครงการขยายกำลังการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมัน Persian Gulf Star ของอิหร่าน ระยะที่ 3 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 61 และคาดว่าจะเดินเครื่องเต็มกำลังภายในเดือน มี.ค. 62 ทำให้กำลังการกลั่นทั้งหมดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 360,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.08 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.12 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 390,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.52 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Nigerian National Petroleum Corp. บริษัทน้ำมันแห่งชาติของไนจีเรียประกาศท่อขนส่งน้ำมัน 2E Network เกิดเพลิงไหม้จากการขโมยน้ำมัน ตั้งแต่ 12 ต.ค. 61 ท่อดังกล่าวใช้สูบถ่าย น้ำมันเบนซินที่กลั่นจากโรงกลั่น Port Harcourt (กำลังการกลั่น 210,000 บาร์เรลต่อวัน) อีกทั้ง บริษัท Motiva Enterprises หยุดดำเนินการฉุกเฉินหน่วย Fluid Catalytic Cracking (FCC: 81,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Port Arthur, Texas (กำลังการกลั่น 603,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 61 และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ต.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 234.2 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.0-87.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก Platts รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นอิสระในจีน เดือน ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7.8 % อยู่ที่ระดับ 66.8% ทั้งนี้สัดส่วนการผลิตน้ำมันดีเซล : น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 1.65:1 สูงสุดในรอบ 13 เดือน และ บริษัท Idemitsu Kosan ของญี่ปุ่น กลับมาดำเนินการ Crude Distillation Unit (CDU) ที่โรงกลั่น Hokkaido (กำลังการกลั่น 150, 000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 61 หลังปิดซ่อมแซมเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 61 จากเหตุแผ่นดินไหว ขณะที่ Japanese Meteorological Agency (JMA) ของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าฤดูหนาวในปี พ.ศ.2561 นี้ มีโอกาสที่หิมะจะตกต่ำกว่าระดับเฉลี่ย 40 % และอุณหภูมิจะสูงกว่าระดับเฉลี่ย 40 % ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 290,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.75 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ต.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 900,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.19 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ต.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 900,000บาร์เรล มาอยู่ที่ 132.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 93.0-98.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล