กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--PR STORY
คนไทยเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ ร้านขายยาก็มักจะเป็นช่องทางที่สามารถขอคำปรึกษาจากเภสัชกรหรือได้รับคำแนะนำเรื่องยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น ดังนั้น เภสัชกรจึงจำเป็นที่จะต้องมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย นอกจากเรื่องยารักษาโรค ซึ่งความรู้ต่างๆ มาจากการตีพิมพ์ผลงานวิจัย หรือการเรียนเพิ่มเติมจากหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ สถาบันแบลคมอร์ส (Blackmores Institute) จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีบทบาทเรื่องการทำวิจัย ศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการและจัดให้ความรู้ด้าน Complementary Medicines โดยในทุกปีได้จัดสัมมนา วิชาการ"Complementary Medicine in Pharmacy Practice Research Update & Application" เพื่อให้ความรู้กับเภสัชกรไทยและบุคลากรทางการแพทย์ของไทย
ในปีนี้เพื่อให้องค์ความรู้เกี่ยวกับ complementary medicines เข้าถึงเภสัชกร สถาบันฯได้เปิดตัวหลักสูตร Complementary Medicines Education (CMEd) หลักสูตรที่พัฒนาโดยสถาบันฯ ให้ความรู้เกี่ยวกับcomplementary medicines ที่นำไปใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดย ดร.เลสลี่ บรอน ผู้อำนวยการสถาบันแบลคมอร์ส ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า เภสัชกรไทยมีความสนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ complementary medicines เป็นอย่างมาก หลักสูตร CMEd จะช่วยให้เภสัชกรสามารถพัฒนาความรู้ได้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย ความรู้เกี่ยวกับ complementary medicines ไม่ใช่จะมีแต่เรื่องของสมุนไพร ยังรวมไปถึงอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้เภสัชกรสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาวิเคราะห์ผู้ป่วยและให้คำปรึกษาในการรักษาเสริมควบคู่กับการใช้ยา
ด้าน ภญ. อโนมา เจริญทรัพย์ ผู้จัดการด้านการศึกษา สถาบันแบลคมอร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า การนำหลักสูตร CMEd เข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากพบว่าผู้บริโภคมีความสนใจเรื่องวิตามิน สมุนไพร การรักษาโดยแพทย์ทางเลือกและอื่นๆ มากขึ้น นำข้อสงสัยปรึกษากับเภสัชกรในร้านขายยา ส่งผลให้เภสัชกรมีความต้องการความรู้เพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว สำหรับหลักสูตร CMEd ของสถาบันฯ เภสัชกรจะได้ศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับ complementary medicines ซึ่งเป็นการเรียนผ่านทางออนไลน์ (Online Modules) 7 บทเรียน อาทิ Introduction to Complementary Medicine, Vitamins in Health and Disease, Safety of Complementary Medicines เป็นต้น หลังจากนั้นจะเป็นการเข้าอบรมในชั้นเรียน (Masterclass) ด้วยรูปแบบพิเศษโดยการใช้กรณีศึกษา และองค์ความรู้ทั้งหมดมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งเภสัชกรที่ผ่านในระดับ Masterclass สามารถสะสมหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ หรือ CPE ได้โดยเภสัชกรที่สนใจสามารถลงทะเบียนเรียนได้ที่ www.blackmoresinstitute.org
นอกจากนี้ ภญ. ดร. ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรชุมชน (ประเทศไทย) ยังได้กล่าวถึงบทบาทของเภสัชกรว่า จากพ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ที่กำหนดให้ทุกร้านขายยาจะต้องมีเภสัชกรประจำร้านตลอดเวลา เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะจะได้รับการให้บริการด้านการใช้ยาที่ปลอดภัยและเหมาะสม ดังนั้น เภสัชกรจำเป็นต้องสร้างบทบาทและพัฒนาตัวเองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เพราะขอบข่ายงานไม่ใช่แค่เรื่องของยา แต่ต้องมีความรู้ในเรื่องของอาหาร อาหารเสริมและสมุนไพร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นอีกทางเลือกที่ผู้บริโภคจะดูแลตัวเองนอกเหนือจากยา รวมถึงต้องพูดคุยกับผู้บริโภค เพื่อสามารถรวบรวมข้อมูลให้คำปรึกษากับผู้บริโภคซึ่งแต่ละคนจะมีปัญหาแตกต่างกัน ในส่วนหลักสูตร CMEd เชื่อว่าเภสัชกรที่เข้ารับการอบรมจะได้รับประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาเภสัชกรจะมีการศึกษาเรื่องของสมุนไพร พืช และกระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์ แต่เนื่องจากขณะนี้มีงานวิจัยใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา การใช้องค์ความรู้แบบเดิมๆ จึงไม่เพียงพอ บทเรียนในหลักสูตร CMEd จะช่วยตอบโจทย์และทำให้เภสัชกรได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะด้านอาหารเสริมสุขภาพ
ทั้งหมดนี้ คือองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะมาช่วยพัฒนาเภสัชกรของไทยอีกก้าวหนึ่ง ให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับ complementary medicines ซึ่งกำลังเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ดังนั้นการพัฒนาตัวเองของเภสัชกรไทยให้มีความรู้รอบด้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการบริการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย