UAC รับข่าวดี “สยามโมเอโกะ” ส่งก๊าซเพิ่ม 3 แสนลูกบาศก์ฟุต/วัน หนุนรง.PPP กำลังผลิตกว่า 90% ครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 25, 2018 11:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์ บมจ. ยูเอซี โกลบอล ( UAC ) เฮ รับข่าวดี หลังรับก๊าซจากแหล่งบูรพา เอ " สยามโมเอโกะ" เพิ่ม 300,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมกับ Associated Gas ที่รับจากแหล่งเสาเถียร เอ ของ ปตท สผ. อีก 1.45 ล้านลูกบาศก์ฟุต ส่งผลบริษัทฯ เดินเครื่องโรงงาน PPP แตะ 1.8 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ด้านผู้บริหาร " ชัชพล ประสพโชค " ระบุ นับเป็นครั้งแรก ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่เริ่มการผลิตโรงงาน PPP ที่มีกำลังผลิตกว่า 90% พร้อมปรับโหมดการผลิต เน้นการผลิต C1 , LPG และNGL เต็มสูบ เชื่อโค้งสุดท้ายสดใส เหตุภาพรวมธุรกิจเติบโต ชี้ เทรดดิ้ง-พลังงาน-ไบโอดีเซล และ PPP หนุนเป้ารายได้ปีนี้โตตามแผน 2,500 ล้านบาท นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า จากการกลับมาผลิตปิโตรเลียมที่แหล่งบูรพาเอ ของ บริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด ตั้งแต่กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีก๊าซธรรมชาติที่เผาทิ้งในการผลิตน้ำมันดิบ (Associated Gas) เพิ่มประมาณ 300,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากรวมกับAssociated Gas จากแหล่งเสาเถียร เอ ของ ปตท สผ. ที่รับมาวันละประมาณ 1.45 ล้านลูกบาศก์ฟุต จะส่งผลให้ UACสามารถเดินเครื่องจากโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (PPP) ได้กว่า 90% ของความสามารถในการผลิตรวม และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มโครงการมา นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีการปรับกลยุทธ์การผลิต เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มการผลิตในส่วนของก๊าซ C1, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม (LPG) และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) และลดการผลิตในส่วนของก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) ลง เพื่อบริษัทฯสามารถส่ง C1ไปให้โรงไฟฟ้าเสาเถียรได้ต่อเนื่อง สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงกว่าที่ผ่านมา 130 % " มั่นใจว่าสถานการณ์ของ PPP และโรงไฟฟ้าเสาเถียร จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณ Associated Gas ที่มากขึ้น และราคาผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วงขาขึ้นตามราคาปิโตรเลียมของโลก ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะเสริมให้ผลประกอบการของ UAC ในไตรมาส 4 มีความแข็งแกร่งมากขึ้น " นายชัชพล กล่าว พร้อมกันนี้ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) ยังได้กล่าวเพิ่มว่า สำหรับภาพธุรกิจในช่วงไตรมาส 4/2561 เชื่อว่ามีการเติบโตจากกลุ่มเทรดดิ้ง ซึ่งมีความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นของกลุ่มลูกค้าโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี ที่มีการขยายกำลังผลิต ส่งผลให้สารเคมีและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ในขณะที่ กลุ่มพลังงานได้รับปัจจัยบวกจากธุรกิจไบโอดีเซล และ PPP ที่มีทิศทางการขยายตัวที่ดีมากขึ้น ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มเคมีภัณฑ์ ยังคงทรงตัว ดังนั้นจึงมั่นใจว่ายอดขายในปี 2561 ของบริษัทฯยังสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 2,500 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ