กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ขยายผลการถ่ายทอดเทคนิคการปฎิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) ภายใต้โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" สู่บุคลากรครูจากทุกภูมิภาคกว่า 400 คน ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ ดาว ประเทศไทย ในการสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้แก่ครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อทลายข้อจำกัดในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านความพร้อมของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์การทดลอง สารเคมี และการเตรียมการสอน
ในปี พ.ศ. 2561 โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" ได้เดินทางร่วมกับขบวนคาราวานวิทยาศาสตร์ ของ อพวช. เพื่อจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนเพิ่มเติมแก่ครูใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา ระยอง อุบลราชธานี พิจิตร สระแก้ว และกระบี่ โดยมีครูเข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 445 คน ซึ่งได้รับความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ชุดอุปกรณ์ทดลองในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การละลายของแอมโมเนีย เคมีของแอมโมเนีย การแยกทองแดงด้วยเคมีไฟฟ้า ฝนกรด โครมาโทกราฟี การแพร่ของก๊าซ สมบัติของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พีเอชอินดิเคเตอร์ การไทเทรดกรดแก่-เบสแก่ สมบัติของออกซิเจน และก๊าซมีปริมาตร ผ่านปฎิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ซึ่งใช้วัสดุที่หาได้ง่ายมาเป็นเครื่องมือในการทดลอง ใช้งบประมาณไม่สูง ลดปริมาณการใช้สารเคมี และมีความปลอดภัยทั้งต่อครูและนักเรียน ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมได้มีการทำแบบประเมินความพึงพอใจ โดยพบว่าครูที่เข้าร่วมอบรมต่างเห็นตรงกันว่าองค์ความรู้ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนนั้นมีความน่าสนใจ เข้าใจง่าย นำไปปรับใช้ได้จริง สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ครูผู้สอน และที่สำคัญตอบโจทย์ความท้าทายของระบบการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ที่ครูทั่วประเทศจำนวนมากต่างต้องเผชิญ ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะมีการจัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เผยว่า "วิทยาศาสตร์เป็นรากฐานของการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรม และส่งเสริมความก้าวหน้าและการเจริญเติบโตโดยรวมของประเทศ ดาว จึงให้ความสำคัญกับสะเต็มศึกษา หรือ STEM (Science, Technology, Engineering & Mathematics Education) รวมถึงการส่งเสริมทักษะและความรู้ความสามารถของบุคลากรครูในประเทศเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่เยาวชนมาโดยตลอด เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี แล้วที่ ดาว ประเทศไทย มุ่งมั่นขยายผลการเผยแพร่เทคนิคการปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้แก่ครูและนักเรียนทั่วประเทศ เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคด้านความพร้อมของห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์การทดลองอันจะส่งเสริมแรงบันดาลใจและโอกาสการเรียนรู้ในชั้นเรียน"
นอกจากนี้ ดาว ประเทศไทย และสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ยังได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับครูวิทยาศาสตร์ของโครงการฯ และขยายเครือข่ายไปสู่ระดับนานาชาติโดยส่งครูต้นแบบของโครงการฯ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมทั้งเผยแพร่เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้กับครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งใด้รับความสนใจและการตอบรับเป็นอย่างดีจากครูในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รวมทั้งสิ้น 300 คน
ศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกกิตติคุณ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และผู้อำนวยการโครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" กล่าวว่า "เพราะเราเชื่อว่า 'วิทยาศาสตร์' คือบันไดสู่ศักยภาพเชิงนวัตกรรมของประเทศไทย และ 'ครู' คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักคิดวิเคราะห์และนำความรู้และประสบการณ์จากการทดลองมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน เราจึงมุ่งมั่นผลักดันการเผยแพร่และถ่ายทอดเทคนิคการปฎิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้แก่บุคลากรครูทั่วประเทศ ซึ่งต้องเผชิญอุปสรรคทางการสอน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือและห้องทดลองที่ไม่เพียงพอและมีราคาแพง การเตรียมการทดลองและการประเมินผลที่ต้องใช้เวลามาก รวมไปถึงปัจจัยด้านความปลอดภัยจากการทดลอง เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนภายใต้โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" จึงตอบโจทย์และเป็นประโยชน์อย่างมากกับทั้งครูและนักเรียน โดยจากผลตอบรับที่ได้จากการจัดกิจกรรมปีที่ 6 ในปีนี้ ทำให้เรามีความมั่นใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยสู่ความก้าวหน้าที่ยั่งยืน"
ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" ได้จัดอบรมการสอนการทดลองเคมีและเผยแพร่เทคนิคการปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย นับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ มีอาจารย์เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งหมดกว่า 1,260 คน จาก 617 โรงเรียน และมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์แล้วทั้งสิ้นกว่า 60,000 คน