กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
วันนี้ (วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2561) เวลา 10.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวกรมศุลกากร ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายดำเนินการงานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ตลอดจนนโยบายและโครงการต่างๆ โดยมอบหมายให้คณะโฆษกกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ และได้กำหนดให้มีการแถลงข่าวประจำทุกเดือน สำหรับประเด็นที่ประชาชนสนใจในขณะนี้ ได้แก่ 1. กรมศุลกากร ร่วมแสดงความยินดีกับการที่ประเทศไทยพ้นจากบัญชีดำงาช้างไซเตส 2. มาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้ามะพร้าว 3. รายงานความก้าวหน้าคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) 4. แจ้งเตือนโปรดอย่าหลงเชื่อการจัดทำหนังสือฉบับพิเศษ 144 ปี กรมศุลกากร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. กรมศุลกากร ร่วมแสดงความยินดีกับการที่ประเทศไทยพ้นจากบัญชีดำงาช้างไซเตส
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่คณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสมีมติให้ออกจากการจัดทำแผนปฏิบัติการงาช้าง (National Ivory Action Plan) ซึ่งกรมศุลกากรในฐานะคณะอนุกรรมการด้านกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ซึ่งมี พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน เป็นประธาน ได้บูรณาการการทำงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผลให้ในระหว่างการดำเนินการแผนปฏิบัติการงาช้าง ปีงบประมาณ 2557-2561 มีผลการตรวจยึดงาช้าง จำนวน 43 คดี ปริมาณงาช้างของกลางมากกว่า 4.5 ตัน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งให้คณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสถอดประเทศไทยจากบัญชีดำงาช้างไซเตส เนื่องจากประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบค้างาช้างที่นำเข้าจากแอฟริกา
เพื่อแสดงถึงความจริงใจและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างทั้งในประเทศและในภูมิภาค กรมศุลกากรดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้าง ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายด้วยการสืบสวนและหาข่าวการค้างาช้างผิดกฎหมายในพื้นที่เสี่ยง เช่น บริเวณชายแดน สนามบิน โดยใช้เครื่องมือและเทคนิคในการสนับสนุนการปฏิบัติงาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการค้างาช้างผิดกฎหมาย มีการวิเคราะห์เส้นทางที่มีความเสี่ยงในการลักลอบขนส่งงาช้างผิดกฎหมายตามหลักบริหารความเสี่ยง และเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าจากประเทศที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะที่มาจากจากทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นผลให้กรมศุลกากรสามารถตรวจยึดงาช้างได้จำนวนมากตั้งแต่เริ่มดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว และนอกจากงาช้างแล้ว ยังส่งผลถึงประสิทธิภาพในการตรวจยึดการลักลอบสัตว์ป่าประเภทอื่น ๆ ทั้งนอแรด ลิ่นและเกล็ดลิ่น เต่า ด้วย โดยมีผลการตรวจยึด ดังนี้
ประเภท ปีงบประมาณ 2557-2561
จำนวน ปริมาณ
(คดี)
1. งาช้าง 43 3,577 กิ่ง/ท่อน/ชิ้น
/ 76 กิโลกรัม
2. นอแรด 8 85 ชิ้น
3. เต่า 48 16,084 ตัว
4. ตัวลิ่น/เกล็ดลิ่น 22 805 ตัว/7,157 กิโลกรัม
5. สัตว์และซากสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น ตัวนาก, นก,ไข่นก เป็นต้น 123 20,144 รายการ
รวม 244
เพื่อให้การขยายผลในการจับกุมไปยังผู้เกี่ยวข้องในขบวนการลักลอบทั้งหมด กรมศุลกากรได้ประสานข้อมูลการข่าวกับทั้งประเทศต้นทาง ทางลำเลียง และประเทศปลายทาง เพื่อสกัดกั้นการลักลอบค้าสัตว์ป่าตามอนุสัญญาไซเตส โดยใช้เทคนิคและเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการกระทำความผิด ซึ่งผลสำเร็จของการประสานข้อมูลการข่าวจากศุลกากรไทยไปยังศุลกากรประเทศต่างๆ มีดังนี้
1. ในปี 2558 ได้มีการประสานงานกับศุลกากรสิงคโปร์ เพื่อแจ้งข้อมูลความเสี่ยงการลักลอบงาช้างจากประเทศเคนยาไปประเทศเวียดนาม เป็นผลให้ทางการสิงคโปร์สามารถตรวจยึดงาช้างที่ได้ จำนวน 3.7 ตัน ซึ่งเป็นการตรวจยึดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศสิงคโปร์
2. ในช่วงเดือน มีนาคม 2559 ได้มีการประสานงานไปยังศุลกากรเคนยา เพื่อแจ้งข้อมูลการลักลอบงาช้างจากประเทศโมซัมบิค ทำให้ศุลกากรเคนยาตรวจยึดงาช้างได้ จำนวน 18 ท่อน น้ำหนัก 64.12 กิโลกรัม
3. ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 ได้มีการประสานงานกับศุลกากรสิงคโปร์ เพื่อส่งข้อมูลความเสี่ยงที่ได้จากการวิเคราะห์พฤติกรรมและรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าสัตว์ป่า เป็นผลให้สามารถตรวจยึดนอแรดได้ 8 ชิ้น
4. ในระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2560 ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย สปป.ลาว รวม 3 ครั้ง เพื่อส่งข้อมูลความเสี่ยงที่ได้จากการวิเคราะห์พฤติกรรมและรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าสัตว์ป่า เป็นผลให้สามารถตรวจยึดนอแรดและงาช้างได้ทั้ง 3 ครั้ง
2. มาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้ามะพร้าว
นายชัยยุทธ คำคุณ กล่าวว่า ตามที่มีข้อร้องเรียนของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวภายในประเทศ กรณีราคามะพร้าวผลตกต่ำ เนื่องจากมีการนำเข้ามะพร้าวผลจากต่างประเทศจำนวนมาก และอาจมีปัญหาการลักลอบสินค้ามะพร้าว เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมศุลกากรได้ดำเนินการแก้ไขดังนี้
(1) กรมศุลกากรได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้เดือนร้อนจากปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อหารือหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคามะพร้าว และได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ซึ่งกรมศุลกากรได้รับมอบหมายในส่วนของการป้องกันการลักลอบและนำเข้ามะพร้าวผิดกฎหมาย และให้เข้มงวดกับการตรวจปล่อยสินค้ามะพร้าวนำเข้า
(2) กรมศุลกากรได้สั่งการให้สำนัก/ด่านศุลกากรทุกแห่ง เข้มงวดในการตรวจปล่อยมะพร้าวผลเป็นกรณีพิเศษแล้ว
(3) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 กรมศุลกากรได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัทผู้นำเข้าสินค้ามะพร้าวผลจำนวน 10 ราย ที่นำเข้าโดยใช้สิทธิการยกเว้นภาษีอากรทั้งหมดตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งมีความเสี่ยงที่ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ที่กำหนดให้ต้องนำเข้าเพื่อการแปรรูปในกิจการของตนเอง และจะไม่นำมาจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ โดยเมื่อผลการตรวจสอบแล้วเสร็จ พบว่าไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไข กรมศุลกากรจะส่งข้อมูลให้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการพิจารณายุติการอนุญาตนำเข้าต่อไป
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 กรมศุลกากรได้จับกุมผู้ลักลอบการนำเข้ามะพร้าว จำวนวน 3 ราย ปริมาณ 45,540 กิโลกรัม มูลค่า 528,437 และอยู่ระหว่างการตรวจสอบความผิด จำนวน 10 ราย
ที่มา: สำนักสืบสวนและปราบปราม
3. รายงานความก้าวหน้าคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ของคณะทำงาน e-Commerce ระบุว่า ความก้าวหน้าของคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) มีดังนี้
(1) ปริมาณการนำเข้าสินค้า e-Commerce ผ่านการปฏิบัติพิธีการศุลกากรแบบของเร่งด่วน ณ สำนักงานตรวจสินค้าท่าอากาสยานสุวรรณภูมิ
สืบเนื่องจากปริมาณการค้าแบบ Online เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้า e-Commerce แบบของเร่งด่วน ทางสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้แก่ ของที่มีราคา FOB. ไม่เกิน 40,000 บาท/รายการ และนำเข้าโดยผู้ประกอบการของเร่งด่วนตามมาตรฐานของกรมศุลกากรเท่านั้น เช่น DHL FEDEX TNT UPS Kerry Express Lazada และ LMS เป็นต้น (ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 130/2561)
ตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยมีปริมาณการนำเข้าเป็นจำนวน 11.98 ล้านหีบห่อ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ถึง 54.54% มูลค่าการนำเข้า 14,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในอัตรา 34.71% และจัดเก็บภาษีอากรได้ 1,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในอัตรา 28.86%
(2) ความก้าวหน้าของคณะทำงาน e-Commerce
คณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการการจัดทำระเบียบศุลกากรเพื่อรองรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนามาตรการทางศุลกากรและข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและเชื่อมโยงการค้าโลก มีกำหนดระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการจนแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งต่อมาได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการออกไปจนถึงเดือน มีนาคม พ.ศ. 2562 มีความคืบหน้า ดังนี้
กรมฯ เห็นชอบในร่างหลักการของ ร่างประกาศศุลกากรเพื่อรองรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้ว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการกลั่นกรองทางด้านข้อกฎหมาย โดยสำนักกฎหมาย
ทั้งนี้ พิธีการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Cross Border e-Commerce Model) มีรูปแบบและสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรที่น่าสนใจ ดังนี้
1. รองรับการนำเข้าทุกรูปแบบ ทั้งทางอากาศยาน เรือ รถ และรถไฟ (Multimodal Transportations) และควบคุมการขนย้ายสินค้าจากท่าที่นำเข้าไปยังเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC โดยเทคโนโลยีระบบอี-ล็อค (e-Lock) เพื่อป้องกันการสูญหายของสินค้าระหว่างการขนย้าย
2. การปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่เรียบง่าย การนำเข้าสินค้าเข้าเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC จะได้รับอนุญาตให้จัดทำใบขนสินค้าแบบเรียบง่าย หรือ Simplified Declaration เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการจัดทำใบขนสินค้าทั่วไป
3. การนำเข้าสินค้าเข้าเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC จะได้รับยกเว้นใบอนุญาตในการนำเข้า
4. การควบคุมระบบบัญชีสินค้า เข้า – ออก เขตปลอดอากรพื้นที่ EEC ด้วยเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด (QR Code)
5. สินค้าทุกชิ้นต้องผ่านการตรวจสอบด้วยระบบเอ็กซเรย์ที่ได้มาตรฐาน
6. มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร
7. มีระบบรักษาความปลอดภัยในเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC ด้วยกล้องวงจรปิด ตลอด 24 ชั่วโมง
8. ได้สิทธิในการเก็บรักษาสินค้าในเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC เป็นระยะเวลา 2 ปี
9. รองรับการนำสินค้าในประเทศเข้าเก็บในเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ มาตรฐานของการให้บริการทางศุลกากรสำหรับ e-Commerce รูปแบบใหม่นี้ จะเป็นไปตามหลักการอำนวยความสะดวกทางการค้าและมาตรฐานสากล
ที่มา: สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศสุวรรณภูมิ
4. แจ้งเตือนโปรดอย่าหลงเชื่อการจัดทำหนังสือฉบับพิเศษ 144 ปี กรมศุลกากร
นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ รองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้ที่อ้างตัวเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าโฆษณาในการจัดทำหนังสือรายงานพิเศษเนื่องในโอกาส "ครบรอบ 144 ปี กรมศุลกากร" และมีการกำหนดอัตราค่าโฆษณาไว้อย่างชัดเจนเป็นจำนวนหลักหมื่นขึ้นไป พร้อมทั้งมีข้อความที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิดว่ากรมศุลกากรมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำหนังสือดังกล่าว กรมศุลกากรขอยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายขอรับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการในลักษณะดังกล่าว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการว่าจ้างสื่อสิ่งพิมพ์รายใดจัดทำหนังสือรายงานพิเศษเนื่องในโอกาส "ครบรอบ 144 ปี กรมศุลกากร" ซึ่งกรมศุลกากรได้ดำเนินการจัดงาน ครบรอบ 144 ปี เสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา
ที่มา: สำนักบริหารกลาง
ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกรมศุลกากรที่ถูกต้องตรงประเด็นได้ 4 ช่องทาง ดังนี้
1. website : https://www.Customs.go.th
2. Facebook : https://www.facebook.com/customsdepartment.thai/
3. Youtube : https://www.youtube.com/theprcustoms
4. Line Official Account