กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--ชม พีอาร์
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปตามความรวดเร็วของเทคโนโลยี งานสร้างสรรค์แบบเก่าจึงถูกทดแทนด้วยวิธีการแบบใหม่มากขึ้น หากเราจะเลือกหยิบ จับ ปรับ ผสม เอางานหัตถกรรมไทยและภูมิปัญญาแต่ดั้งเดิมมาต่อยอดให้เข้ากับยุคสมัย ก็จะสามารถทำให้คนรุ่นใหม่ได้สืบต่อเล่าขานและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
โดยทางโครงการ Talent Thai & Designers' Room โดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เล็งเห็นถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้มีการสร้างสรรค์ผลงานและต่อยอดงานหัตถกรรมศิลปะความเป็นไทยผ่านความรักความหลงไหลในแบบฉบับของตัวเองมาให้ทุกคนได้รู้จัก
นวยนาด – NUAYNARD
จากอาชีพนักเขียนทำงานในเมืองกรุงจับมือคนรักย้ายทัพมาอยู่โคราช หยิบยกเอาวัตถุดิบจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นน้ำซับธรรมชาติจากดินและน้ำฝนจากฟ้า มาลองผิดลองถูกสร้างสรรค์เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ที่มีชื่อสุดน่ารักว่า "นวยนาด"
ปุ้ม - นันท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์ และ ว่าน - ปกาสิต เนตรนคร ได้เล่าให้ฟังว่า แบรนด์นวยนาดมีสตูดิโออยู่ที่หมู่บ้านซับศรีจันทร์ จังหวัดนครราชสีมา จุดเริ่มต้นมาจาก ระบบสาธารณูปโภคของหมู่บ้านนี้ยังไม่ดีเท่าไหร่ คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะนิยมรองน้ำฝนไว้ใช้ และแหล่งน้ำสำคัญในหมู่บ้านก็คือน้ำซับ ก็คือน้ำที่ผุดขึ้นมาจากดิน เมื่อถึงหน้าน้ำแล้ง ชาวบ้านจะดูดน้ำซับนี้มาใช้ ก็คือเราจะ ได้น้ำที่มาจากฟ้าและดินมาใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์ของเราเลยใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างน้ำฝนเป็นหลัก
" ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่เราทำคือสบู่ก้อน ไม่มีกลิ่น เป็นธรรมชาติเพียวๆ เลยเริ่มมองวัตถุดิบในแถบอีสาน เช่น คราม , ย่านาง เราก็เอามาทำเป็นสบู่ย่านาง นอกจากนี้ยังมีสบู่เหล้าอุหมักข้าวกล้อง ทำมาจากสุราแช่เป็นของพื้นบ้านของคนอีสาน สบู่ไวน์หมักเม้า ทำมาจากหมักเม้า "ที่ได้ยินว่าเราพูดถึงหมู่บ้านซับศรีจางบ่อยๆ เพราะเราต้องการให้คนได้รู้จักและเห็นว่าที่นี่มีของดี
" เราเอาทรัพยากรในพื้นที่มาใช้ เราจึงอยากคืนคุณค่าบางอย่างกลับไปผ่านทางแบรนด์นวยนาด"
แบรนด์นวยนาดยังมีชื่อคอลเลคชั่นน่าสนใจ อย่างเช่น น้ำอบกลิ่นชื่นจิต ชื่นใจ มาส์กตื่นก่อนพระอาทิตย์หลับก่อนพระจันทร์ จากที่เริ่มทำเพราะเป็นคนชอบมาส์กหน้า การมาส์กเป็นเหมือนช่วงเวลาที่ทำให้เราได้พักผ่อนได้หลับตา ตื่นก่อนพระอาทิตย์ก็จะมาจากวิถีชีวิตของชาวบ้านที่จะตื่นตั้งตีสี่ตีห้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์ หลับก่อนพระจันทร์ก็คือนอนให้เร็วขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ "
พาตาเพียร - PATAPIAN
PATAPAIN เป็นแบรนด์ที่ใช้งานออกแบบมาเพิ่มมูลค่า ให้กับงานหัตถกรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของไทย โดยจั้ม- วลงค์กร เทียนเพิ่มพูล และ ก้อย- สุพัตรา เกริกสกุล ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ PATAPIAN จักสานร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจ ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์ว่า " แบรนด์ PATAPIAN ก่อตั้งมาได้กว่า 5 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากความชอบของเราสองคน ที่สนใจในงานจักสานอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้จำกัดความว่างานสาน เป็นงานถักทออย่างเดียวแต่เรามองถึงความเป็นศิลปะความทับซ้อนของแสง เราเลยถ่ายทอดงานของเราออกมาในมุมมองในแบบของตัวเราเองคืองานดีไซน์ที่มันแตกต่างออกไป แบบสไตล์คอนเทโพลารี่"
"อย่างวัสดุของเราใช้ไม้ไผ่จากหลายจังหวัดในประเทศไทย เช่น จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ผลงานต่างๆที่เห็นก็มาจากฝีมือคนในชุมชนด้วย ถึงแม้งานของเราจะมีดีไซน์ที่แปลกใหม่ แต่การสานแบบนี้ก็ต้องอาศัยการสานที่เป็นไทยเดิมเข้ามาเป็นพื้นฐาน แต่งานแบบนี้ต้องอาศัยคนที่เค้ารักเค้าชอบมากกว่า เราเลือกจากเค้าชอบงานจริงๆจากนั้นมันไม่ยากละ "
ที่ตั้งชื่อว่าแบรนด์ปาตาเพียรเพราะมันเป็นความทรงจำในวัยเด็ก ที่เราได้เห็นงานจักสานครั้งแรก และมันเป็นความหมายของความอุดมสมบูรณ์
MAISON CRAFT
เมย์ - เมทินี รัตนไชย ผู้ก่อตั้งแบรนด์ MAISON CRAFT สาวหาดใหญ่ที่หลงไหลในงานหัตถกรรมทำมือแบบไทยๆ จากการไปคลุกคลีกับคนในชุมชนจนอยากจะช่วยพัฒนาให้งานหัตกรรมของคนไทยไปสู่ตลาดโลก วันนี้แบรนด์ MAISON CRAFT มาได้ไกลและเป็นที่รู้จักในวงการงานออกแบบได้อย่างรวดเร็ว
" หลายคนเมื่อพูดถึงงานหัตถกรรม จะรู้สึกของความเป็นชุมชนนึกถึงสินค้าบ้านๆงานจักสาน ที่มันเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ยาก เราต้องการให้คนสมัยใหม่ยังเห็นว่างานคราฟท์มันเก๋ มันควรมีอยู่ในบ้าน "
" ความงามของสินค้าไม่ได้อยู่ที่วัสดุนะ แต่อยู่ที่วิถีชุมชนของเขา ซึ่งการจะได้มาแต่ละงานคราฟท์ มันมีการปฏิสัมพันธ์ของชุมชน ทำให้เห็นว่าความน่ารักของชุมชนยังอยู่ รู้สึกว่าเราควรจะรักษางานหัตถกรรมแบบนี้เพื่อให้ชุมชนยังสามารถทำใน Know How ที่เค้ามี ซึ่งมันเป็นเสน่ห์ของบ้านเราจริงๆ "
ในการทำงานแต่ละชิ้น ตนเองจะเข้าไปถึงชุมชนปรับและเรียนรู้ร่วมกับชุมชน " เราจะไม่พยายามเอาความเป็นคนเมืองไปใส่ให้กับเขา แต่เราพยายามนำสิ่งที่เขาเป็นมาร้อยเรียง สิ่งใหม่ให้กับเขา ในรูปแบบงานที่ออกมา "
โดยได้รับผลตอบรับจากคนในชุมชนในด้านบวกที่ว่า เค้าดีใจมาก คือต้องบอกก่อนว่าการทำงานกับชุมชนจะมีความยากตรงที่ว่า เราเป็นคนต่างถิ่น เข้าไปครั้งแรกคุยกันก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่เราเข้าไปด้วยความจริงใจ เราอยากเข้าไปเพื่อพัฒนา ถึงแม้จะไม่ใช่สินค้าของจังหวัดบ้านเราเองก็ตาม แต่เรามองว่ามันเป็นสินค้าของประเทศไทยของเรา เลยคิดว่าอยากจะพัฒนาสินค้าของเค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกได้ เลยทำให้ความจริงใจของเราที่สื่อสารกับเค้าเลยเริ่มเกิดความเชื่อใจเรา
เราเชื่อว่าในทุกๆพื้นที่ของประเทศไทศมีของดีประจำท้องถิ่นของตัวเองอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะจับจุดได้ถูกทางและนำมาปรับให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกิมมิกน่าสนใจอย่าง 3 แบรนด์นี้ได้อย่างไร ว่าแล้วก็ออกไปมองหาของดีเจ๋งๆใกล้ตัวมาสร้างสรรค์ผลงานกันบ้างดีกว่า