กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength: IFS) ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL ที่ 'BBB+' (หรืออยู่ในระดับ "ดี") และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS) ที่ 'AAA(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศของ MTL สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจประกันชีวิตที่ดี (Good Business Profile) อัตราส่วนเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และฐานะทางการเงินที่แข็งแรงของบริษัท อีกทั้งยังสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยและอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตรับที่ชะลอตัวลงของบริษัท อย่างไรก็ตามอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของ MTL ถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทย (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ที่ 'BBB+' ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของบริษัทในกรณีที่ไม่ถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศที่ 'A-' อยู่ 1 อันดับ
ฟิทช์คาดว่าโครงสร้างธุรกิจของ MTL จะยังคงมีเสถียรภาพต่อเนื่องในระยะกลางเนื่องจากบริษัทมีเครือข่ายการดำเนินงานที่มีขนาดใหญ่ โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเบี้ยประกันชีวิตรับรวมเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย และมีช่องทางการขายที่แข็งแกร่ง อีกทั้งบริษัทยังได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินงานและด้านเทคนิคจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Ageas Insurance International N.V. (A/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)
ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายในการรักษาฐานะของเงินกองทุนอย่างระมัดระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถรองรับความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเพื่อรองรับเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 ของประเทศไทยซึ่งจะกำหนดการดำรงเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงในด้านต่างๆในระดับที่สูงขึ้นได้ โดยเกณฑ์ดังกล่าวคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2562 ระดับเงินกองทุนของ MTL ที่ 385% นั้นยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่ 140% อยู่มาก อีกทั้งผลการประมาณการระดับเงินกองทุนของบริษัทจากแบบจำลอง Prism Factor-Based Capital Model (Prism FBM) ของฟิทช์ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ('Strong') อ้างอิงจากข้อมูลทางการเงิน ณ สิ้นสุดครึ่งปีแรกของปี 2561 ซึ่งฐานะเงินกองทุนที่แข็งแรงของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับปานกลางและอัตรากำไรที่อยู่ในระดับที่ดี
บริษัทอาจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงในระดับที่สูงขึ้นบ้างเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะสั้น MTL มีสัดส่วนเงินลงทุนในตราสารทุนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 11% ของสินทรัพย์ลงทุนรวม ณ สิ้นสุดครึ่งปีแรกของปี 2561 (ปี 2557; 9%) โดยแนวโน้มของการลงทุนในตราสารทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ยังคงสอดคล้องกับบริษัทประกันชีวิตอื่นในประเทศไทย อย่างไรก็ตามบริษัทมีการควบคุมความเสี่ยงของการลงทุนผ่านการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ระมัดระวังและรักษาสมดุลระหว่างผลตอบแทนที่จะได้รับ ความเสี่ยงของการลงทุนและค่าความเสี่ยงของการคำนวณเงินกองทุน บริษัทยังคงรักษาระดับของเงินลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยมีสัดส่วนเงินลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจไทยประมาณ 64% ของเงินลงทุนในตราสารหนี้ทั้งหมด
ฟิทช์คาดว่า MTL จะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องในระยะปานกลางโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการรับประกันภัยที่ระมัดระวังและจากผลตอบแทนของเงินลงทุนที่สม่ำเสมอ ซึ่งอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เฉลี่ยของ MTL ที่ 3.1% ในระหว่างปี 2558 - 2560 ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทประกันชีวิตที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลที่ระดับ 'A' – 'BBB' สำหรับอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับของ MTL ที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ด้านการให้ความคุ้มครองอื่นๆ ซึ่งมีเบี้ยประกันรับน้อยกว่า และการปรับตัวลดลงของยอดขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางธนาคารเนื่องจากผลกระทบจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำและจากกฏเกณฑ์การกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้แก่
- การปรับตัวลดลงของสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (RBC) มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 250% และการปรับตัวลดลงของระดับเงินกองทุนของบริษัทซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism FBM เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
- การปรับตัวลดลงของความสามารถในการทำกำไรซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เฉลี่ยที่ต่ำกว่า 1% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
- การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local-Currency IDR) ของประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยจากแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้แก่
- การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ MTL ไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของบริษัทอยู่ระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ 'BBB+' และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศที่ 'AAA(tha)' เป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดแล้ว
- อย่างไรก็ตาม หากฟิทช์ประกาศใช้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตบริษัทประกันภัยตาม Exposure Draft ที่ประกาศเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ฟิทช์จะยกเลิกการจำกัดอันดับเครดิตของประกันภัยไว้ในระดับที่ไม่สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศ ('top-down' sovereign constraint) และจะเปลี่ยนมาเป็นการวิเคราะห์โครงสร้างเครดิตโดยรวมของบริษัทเอง (credit profile) ซึ่งอาจจะไม่ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศโดยเป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงของประเทศในแต่ละปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิต ('bottom-up' analysis of country risk) ดังนั้น อันดับเครดิตของ MTL อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากผลการดำเนินงานและโครงสร้างธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ