กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ธพว.
ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจชี้ SMEsไทย ตื่นตัวยกระดับระบบโลจิสติกส์ เชื่อจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเทรนด์เติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ระบุอยากลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี และบรรจุภัณฑ์ เชื่อช่วยเพิ่มยอดขาย ด้าน SME Development Bank ประกาศพร้อมหนุน ต่อยอดความรู้และเงินทุน
รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการสำรวจ "รูปแบบการใช้และการจัดการ Logistics SMEs ไทย" จากกลุ่มตัวอย่าง 1,221 ตัวอย่าง ว่า เอสเอ็มอีไทยมีการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์หลากหลาย โดยแบ่งตามสัดส่วน ร้อยละ 26.48 เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบ/สินค้า, ร้อยละ 22.97 จัดส่งสินค้า, ร้อยละ 18.81 จัดการสต๊อกสินค้า, ร้อยละ 12.51 การบรรจุหีบห่อ/บรรจุภัณฑ์, ร้อยละ 7.23 ทำเอกสารนำเข้า-ส่งออก, ร้อยละ 6.63 วางแผนการผลิต และร้อยละ 5.37 การจัดการสินค้ารับคืน โดยแทบทุกกิจกรรม กลุ่มตัวอย่างระบุว่า จะทำเอง ยกเว้นแค่การจัดส่งสินค้า กลุ่มตัวอย่างบอกว่าจะใช้วิธีว่าจ้างผู้อื่น
เมื่อถามถึงระดับความสำคัญของระบบโลจิสติกส์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.01 ระบุว่า สำคัญปานกลาง และเชื่อว่าในอีก 6 เดือน และ 1 ปีข้างหน้า จะมีความสำคัญมาก ซึ่งเป็นแนวโน้มเหมือนกันหมด ทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง จดทะเบียน และไม่จดทะเบียน
ส่วนค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์เทียบกับค่าใช้จ่ายโดยรวมของกิจการ กรณีทำเอง อยู่ที่ร้อยละ 30.56 ส่วนจ้างบริษัทภายนอก อยู่ที่ร้อยละ 13.33 ขณะที่ค่าใช้จ่าย ด้านการขนส่งสินค้าและบริการเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายโดยรวมของกิจการ กรณีทำเอง อยู่ที่ร้อยละ 18.99 ส่วนจ้างบริษัทภายนอก อยู่ที่ร้อยละ 15.77
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 87.24 เผยว่า มีการเก็บสต๊อกสินค้าเพื่อรอการขาย และหากแยกเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เก็บสต๊อกสินค้ารอการขาย เฉลี่ย 24 วัน ส่วนธุรกิจขนาดกลาง เก็บสต๊อกสินค้ารอการขาย เฉลี่ย 35 วัน
นอกจากนั้น ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ระบุตรงกันด้วยว่า เทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญมาก คือ การจัดส่งสินค้า ทว่า สาเหตุที่ธุรกิจยังไม่นำเทคโนโลยีมาใช้นั้น คำตอบคือ กิจการมีขนาดเล็กจึงไม่จำเป็นต้องใช้ ร้อยละ 29.85 , ไม่มีเงินทุนในการซื้อเทคโนโลยี ร้อยละ 26.70 , กิจการไม่มีอะไรเกี่ยวกับเทคโนโลยีเลย ร้อยละ 14.81 , เทคโนโลยียังไม่มีความจำเป็นกับกิจการ ร้อยละ 13.83 , ไม่รู้ว่าจะใช้เทคโนโลยีอย่างไร ร้อยละ 6.80 และอื่นๆ ร้อยละ 8.01
นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 32.40 มีแผนจะลงทุนซื้อเครื่องมือเกี่ยวข้องระบบขนส่ง เทคโนโลยี และไอที โดยร้อยละ 74.32 จะใช้วิธีกู้ยืม เฉลี่ยวงเงินที่ต้องการ 237,217.39 บาท
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยถึงรูปแบบการใช้บริการขนส่งของ SMEsไทย นั้น กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 60.72 มีการดำเนินธุรกิจออนไลน์ (e-commerce) โดยขนาดเล็กมีมูลค่าการดำเนินธุรกิจออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 26.52 ของมูลค่าทั้งหมด ส่วนธุรกิจขนาดกลางมีมูลค่าการดำเนินธุรกิจออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 31.94 ของมูลค่าทั้งหมด โดยใช้ออนไลน์ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 6 ปีเท่ากัน
ทั้งนี้ ธุรกิจมีบริการจัดส่งสินค้าฟรี (Free Shipping) ร้อยละ 61.99 และเมื่อแยกตามขนาดธุรกิจ และการจดทะเบียนนิติบุคคลพบว่า ธุรกิจขนาดเล็กและไม่จดทะเบียนนิติบุคคล มีอัตราให้บริการดังกล่าวมากกว่าธุรกิจขนาดกลางและจดทะเบียนนิติบุคคลด้วยซ้ำ โดยส่วนใหญ่เลือกวิธีจัดการส่งสินค้าเอง ซึ่งพาหนะที่นิยมใช้ในการส่งสินค้า ทั้งส่งเอง และจ้างบริษัทขนส่ง ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก รถตู้ และรถโดยสาร ตามลำดับ
ส่วนผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าที่ผู้ประกอบการนิยมมากสุด ได้แก่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร้อยละ 20.37 , Kerry ร้อยละ 20.06 , บริษัท ขนส่ง จำกัด ร้อยละ 16.76 , LINE MAN ร้อยละ 12.78 , บริษัท รถโดยสารเอกชน ร้อยละ 10.14 , การรถไฟแห่งประเทศไทย ร้อยละ 8.71 , Grab ร้อยละ 5.46 , LALAMOVE ร้อยละ 2.55 , อื่นๆ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 1.46 , เครื่องบิน ร้อยละ 0.95 และ บริษัทรถขนส่งเอกชน ร้อยละ 0.76
ด้านรูปแบบการใช้บรรจุภัณฑ์นั้น กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนจากปัจจัยด้านความแข็งแรง และปลอดภัยในการขนส่ง รวมถึง เพื่อส่งเสริมการตลาด เช่น ความสวยงาม พกพาสะดวก โดยธุรกิจขนาดเล็กและไม่ได้จดทะเบียน ให้คะแนนเฉลี่ยประมาณ 7.5 คะแนน ส่วนธุรกิจขนาดกลางและจดทะเบียน ให้คะแนนเฉลี่ยประมาณ 8 คะแนน อีกทั้ง ร้อยละ 21.28 มีแผนจะลงทุนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยต้องการวงเงิน 89,893.44 บาท และหากกู้เงินที่ต้องการได้ เชื่อว่า จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.13
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ เผยด้วยว่า มาตรการหรือความช่วยเหลือที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่าอยากได้รับจากภาครัฐ ได้แก่ 1.พัฒนากระบวนการจัดการระบบโลจิสติกส์ 2.ส่งเสริมหรือพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อจัดการระบบโลจิสติกส์ และ 3.พัฒนาระบบขนส่ง ส่วนความต้องการจาก SME Development Bank คือ 1.สินเชื่อสำหรับปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์ เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งสินค้า และ 2.ส่งเสริมหรือพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสินค้า การเลือกใช้เทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งสินค้าที่เหมาะสมกับธุรกิจ
ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) กล่าวถึงผลสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง กลุ่มจดทะเบียน และไม่จดทะเบียนนิติบุคคล ต่างให้ความสำคัญด้านพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งสินค้า บริหารสต๊อกสินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เพราะมั่นใจว่าจะสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจจากการค้าออนไลน์ หรือ e-commerce ซึ่งกำลังได้รับความนิยมและตลาดมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ธนาคารจะนำผลสำรวจดังกล่าวไปพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่และบริการสนับสนุน เพื่อมุ่งตอบตรงความต้องการของเอสเอ็มอีที่อยากลงทุนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ และช่วยลดต้นทุนการจัดส่งสินค้า นอกเหนือจากบริการต่างๆ ที่ธนาคารได้ดำเนินการมาแล้วหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์ม 'SME D Bank' ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันรวบรวมเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Tools Box) มากกว่า 100 รายการ เช่น ระบบคลังสินค้า ระบบจัดการขนส่ง ฯลฯ เปิดให้ดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรี
จัดกิจกรรมเติมความรู้ อาทิ สัมมนาแนะนำการทำตลาดออนไลน์ พาจับคู่ธุรกิจกับผู้ให้บริหารตลาดออนไลน์ อย่าง Shopee และองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) รวมถึง มีโครงการพัฒนาด้านดีไซน์และบรรจุภัณฑ์ ให้โดนใจตลาดและเหมาะสมแก่การจัดขนส่ง เป็นต้น
และสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ หรือปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ธนาคารมีสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษไว้บริการ เช่น สินเชื่อเถ้าแก่4.0 จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) และ สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 3 ปีแรก เพื่อธุรกิจเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน และผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม เป็นต้น