กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วันที่ (29 ตุลาคม 2561) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมประชุมสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5/2561 โดยกล่าวเสวนาในหัวข้อ บทบาทของคณะวิทยาศาสตร์กับโครงการบัณฑิตเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC รวมทั้งความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับคณะวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ
วัตถุประสงค์หลักของการจัดประชุม คือ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาการทำกิจกรรมในประเด็นที่สนใจร่วมกันเพื่อผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพและสร้างกำลังคนทางวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพสูงให้กับประเทศ รวมทั้งเพื่อยกระดับความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ การรวมตัวเป็นเครือข่ายที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ก่อให้เกิดคุณค่าที่เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตบัณฑิต การผลิตกำลังคนทางวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพสูง การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และการสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้า ด้านการวิจัยของประเทศ
ผลงานเด่นที่ประสบผลสำเร็จของที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้แก่ โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ , โครงการก่อตั้งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , โครงการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์ , โครงการปรับเพิ่มห้องเรียนวิทยาศาสตร์ฯ และโครงการ วมว.
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า "ในศตวรรษที่ 21 ประเทศจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก ตามนโยบาย Thailand 4.0 อีกทั้งกระทรวงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ "กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม" ซึ่งจะเป็นกระทรวงที่จะเกิดขึ้นเพื่อเตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 และปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมไทยไปสู่ฐานนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์เรื่องไทยแลนด์ 4.0 โดยจะเน้นนโยบายเกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม" และได้กล่าวถึงภารกิจของกระทรวงใหม่ ประกอบด้วย 3 คีย์เวิร์ด ที่จะทำให้ตอบโจทย์เรื่อง 4.0 ประกอบด้วย
1.Future setting เป็นกระทรวงที่จะเชื่อมภาพปัจจุบันที่เราเป็นอยู่กับภาพอนาคตของประเทศ เพราะงานวิจัยคือองค์ความรู้ อาจเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด หรือเกิดแล้วจะทำอย่างไรให้เกิดพลัง แล้วแปลงเป็นนวัตกรรม
2.Game changing โลกที่ถูก disrupt เราจำเป็นจะต้องเปลี่ยนกระบวนการความคิด แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะอยู่แบบแฟลตฟอร์มเดิมไม่ได้ จะต้องเป็นกระทรวงที่สามารถทำงานบนโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และจะต้องนำเรื่องของ thinking และ doing เข้าด้วยกัน เพราะไม่อย่างนั้นจะถูก disrupt
3.Innovative Capacity Building คือ จะต้องสร้างงานสร้างคน ในลักษณะที่ตอบโจทย์ Innovation ให้ได้มากที่สุด เพราะเรื่องการศึกษาในยุค 4.0 คือ การเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม
ดร.สุวิทย์ สรุปไว้ว่า "เชื่อในคีย์เวิร์ด 3 คำนี้ว่า กระทรวงนี้จะต้องเป็นกระทรวงที่เชื่อมโยงไปสู่อนาคต เป็นกระทรวงที่จะทำให้เปลี่ยนแพลตฟอร์มที่จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ สามคีย์เวิร์ดนี้จะนำพาประเทศไทยไปสู่ 4.0 และเชื่อว่า มหาวิทยาลัย สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย จะตอบโจทย์ และจะเชื่อมภาพเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง"