กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--วิช กรุ๊ป
เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2561 ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติมีงานสัมมนาพิเศษ เรื่องไม่เปลี่ยน ไม่รอด เปลี่ยนธุรกิจในยุคดิจิทัล ต้อง Digital Transformation โดยผู้เขียนหนังสือเปลี่ยนธุรกิจในยุคดิจิทัลStep by Step Digital Transformation In Action และกูรูด้าน Digital Transformation ให้แก่องค์กรธุรกิจต่างๆ มากกว่า 100 องค์กร คุณธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล ที่มาเปิดภาพกว้างให้ผู้ฟังได้เห็นว่าโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงและถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอย่างแรง ชนิดถ้ายังไม่ตระหนักหาหนทางเพื่อการปรับตัว หรือยังมัวแต่ตั้งรับ ในอนาคตอันใกล้ธุรกิจนั้นอาจหายไปจากสมรภูมิการค้านี้เลยทีเดียว
ในศตวรรษที่ 21 อยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นทางการแล้ว อันเนื่องมาจากการแข่งขันการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากการดำเนินธุรกิจไม่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ย่อมส่งผลเสียต่อองค์กรและผลประกอบการทั้งปัจจุบันและอนาคต
นั่นเพราะในโลกยุคนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยน การตลาดต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงตาม งานบริการหรือธุรกิจที่สามารถเข้ามารองรับหรือเสริมความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคยุคนี้จะสามารถแจ้งเกิดและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ ธุรกิจด้านโลจิสติก การทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ความบันเทิงเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น นั่นคือ ในยุคที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง การคิดกลยุทธ์ หรือการดูแลระดับใกล้ชิดจึงต้องอาศัยการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แม้นในประเทศไทยมีสถิติเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก หากแต่เมื่อเข้าไปดูในระดับลึกแล้วคนไทยเราเพียงแค่ "เล่น" โซเชียลมีเดียเท่านั้น ไม่ได้ "ใช้" โซเชียลมีเดียในการเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการทำธุรกิจ ผู้บรรยายได้เล่าว่า การ Transform ธุรกิจสู่ดิจิทัลนั้น แท้จริงแล้วคือ การนำธุรกิจในรูปแบบเดิมหรือ Traditional มาใส่เทคโนโลยีเข้าไปเป็นส่วนประกอบเพื่อการได้เปรียบในการส่งมอบสินค้าหรือบริการ และทำในสิ่งที่ Digital Disrupt ได้ยาก
เมื่อเราไม่ต้องการให้เทคโนโลยีมาแทนที่หรือบีบคั้นให้เราต้องเปลี่ยนแปลง จึงมีคำถามขึ้นมาว่าจะดีกว่าไหม หากผู้ประกอบการหรือนักบริหารองค์กรมาเรียนรู้พร้อมปรับกรอบความคิด วางกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่ Digital Transformation ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงธุรกิจเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Enterprise) เพื่อนำประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น AI, Blockchain, 3D Printing ที่ไม่ใช่แค่เครื่องมือแต่เป็นยุทธศาสตร์สมัยใหม่มาช่วยให้ธุรกิจสร้างความเติบโตครั้งใหม่ได้ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลนั้นไม่ได้มีแต่ในเฉพาะองค์กรเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในระดับประเทศ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน การตลาดก็ต้องเปลี่ยนตาม ผู้บริหาร นักการตลาด และผู้ประกอบการต้องสร้างประสบการณ์กับผู้บริโภค ให้เกิดการซื้อ ซื้อซ้ำ และบอกต่อ ดังนั้น การปรับตัวเท่านั้นถึงอยู่รอด และต้องไม่เพียงแค่การทำการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการทำ Digital Transformation เท่านั้น แต่ต้องทำ Digital Transformation คือการเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจทั้งหมดรวมถึง mindset หรือวิธีคิดของผู้นำในการทำธุรกิจอีกด้วย
สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ผู้บริหารและผู้ประกอบการต้องรู้ก่อนว่าปัจจุบันมีดิจิทัลเทคโนโลยีอะไรบ้าง และเทคโนโลยีอะไรที่เหมาะสมกับธุรกิจของเรา ให้หยิบเอาตัวนั้นมาปรับใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันครั้งใหม่ให้กับธุรกิจของเรา และศึกษาการแข่งขันให้ชัดเจน ต้องรู้เข้าใจด้วยว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปในทางทิศทางไหน และที่สำคัญคือการเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิด วิถีและวัฒนธรรมการทำงานของผู้บริหารและพนักงานให้ปรับตัวรู้เท่าทันสิ่งเปลี่ยนที่กำลังจะเกิดขึ้น
ในยุคIndustrial 4.0 ยุคที่ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจหรือสินค้าตัวไหนที่ซื้อขายง่าย และใกล้ตัว ธุรกิจนั้นย่อมได้เปรียบมากกว่า นั้นหมายความว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ธุรกิจจำเป็นต้อง Digital Transformation คุณธนพงศ์พรรณ ได้กล่าวต่อว่า การที่ธุรกิจกำลังจะถูกแทนที่นั้น หลายธุรกิจยังไม่รู้ตัวเพราะอาจเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการปะทะโดยตรง ซึ่งในความเป็นจริงนั้นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมน่าเป็นห่วงกว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงเพราะธุรกิจเหล่านั้นยังไม่ได้คำนึงถึงการถูกแทนที่ Disrupt และไม่ได้เตรียมการรองรับใดๆ ต่อสัญญาณอันตรายเหล่านี้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะต้องปิดเกมการแข่งขันกันไปเลยทีเดียว
มีคำถามว่า และถ้าหากธุรกิจของเรานั้นกำลังจะถูก Disrupt เราควรจะรับมือหรือทำอย่างไร วิทยากรได้ให้ความเห็นว่า
1.เราอาจจะซื้อกิจการนั้น (กรณีธุรกิจมีกำลังซื้อได้) เพื่อไม่ให้มีปัญหากับธุรกิจเราในภายหลัง
2.จับมือเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจกัน เพื่อขยายฐานลูกค้าหรือเพื่อให้ธุรกิจนั้นเติบโต
3.เปิดธุรกิจใหม่เข้าร่วมแข่งขัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค
4.รักษาฐานลูกค้าให้เหนียวแน่น นั่นคือคิดหาวิธีทำการปฎิสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับลูกค้าให้มีความศรัทธาในธุรกิจ
5.ขายกิจการ ในกรณีที่เห็นแล้วว่าอาจจะไม่มีกำลังมากพอในการจะปรับตัว ก็สามารถแปลงสินทรัพย์เพื่อเป็นทุนไปประกอบธุรกิจอื่นต่อได้
การรักษาฐานลูกค้าให้เหนียวแน่นและมั่นคงในสินค้าและบริการ ยังถือว่าเป็นกลยุทธ์แห่งความยั่งยืน เพราะเป็นยุคที่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น การเป็นแบรนด์ที่ใกล้ชิดและแข่งขันด้านคุณภาพการให้บริการและเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ การสร้างปฎิสัมพันธ์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) และผู้ประกอบการอย่าเข้าใจผิดว่าการทำ Digital Transformation จะต้องเอาเทคโนโลยีมา Lead หรือขับเคลื่อนธุรกิจทั้งหมด ซึ่งแท้จริงเราควรขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ แล้วค่อยเอาเทคโนโลยีมาเสริมให้กลยุทธ์เท่านั้น นอกเหนือจากการสร้างการมีส่วนร่วมแล้ว การนำข้อมูลลูกค้าที่มีทั้งหมดมาบริหารจัดการ เช่น ในองค์กรขนาดใหญ่การทำ Big Data ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งไม่แพ้กัน หลายธุรกิจในปัจจุบันได้ทำระบบการบริหารฐานข้อมูล หรือ Big Data ให้กลายเป็นสินทรัพย์หรือสร้างมูลค่าอย่างมหาศาลต่อธุรกิจได้
หลายคนมีคำถามว่าการทำ Digital Transformation ต้องใช้งบประมาณมากหรือไม่ วิทยากรแนะนำว่า การที่เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารจะลุกขึ้นมาทำ Digital Transformation นั้นเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง โดยให้เริ่มจากการ Transform ที่ตัวเราหรือบุคลากรในองค์กรก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเราย่อมต้องรู้และเข้าใจว่าการจะทำ Digital Transformation ในองค์กรนั้นเป็นไปด้วยเหตุใด และหวังผลเช่นใด เมื่อคนในองค์กรเห็นความจำเป็นและความสำคัญการกำหนดกลยุทธ์ต่างๆ จึงเกิดขึ้น และค่อยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใส่ในกระบวนการเป็นเครื่องมือเพื่อให้กลยุทธ์ที่วางไว้เดินได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพนั่นเอง
ในปี 2019 เป็นต้นไปให้จับตามองธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีผลประกอบการมาก กำลังจะโดน Disrupt ที่ไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นธุรกิจอื่นๆ ที่เข้ามาเป็นคู่แข่งทางอ้อม ทำให้คู่แข่งที่แท้จริงกลับกลายมาเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ซึ่งสวนทางกับการทำธุรกิจแบบสมัยก่อนอย่างแน่นอน
ในสัมมนาทิ้งท้ายไว้ว่า Digital Transformation ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่ผู้ประกอบการและเราจำเป็นต้องรู้เทคโนโลยี และคนเก่งในอดีต กับคนเก่งในปัจจุบันมีความแตกต่างกัน การเรียนรู้และมองเทรนแห่งอนาคตสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะต้องเผชิญ จึงเป็นหนทางที่เราต้องมีความพร้อมและรู้ว่าเราจะปรับตัวอย่างไรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งหากเราทำได้เราก็จะสามารถดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลนี้ได้อย่างมีความสุข
หนังสือเปลี่ยนธุรกิจในยุคดิจิทัล Step by Step Digital Transformation In Action จะทำให้เราเข้าใจการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรมที่ไม่เหมือนเดิม และได้ทราบว่าดิจิทัลเทคโนโลยีอะไรที่จะเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนรูปแบบในการแข่งขัน และส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไรอีกด้วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็ต้องตระหนักว่า ธุรกิจของเราจะถูกเทคโนโลยีบังคับให้เปลี่ยนแปลงหรือจะเป็นผู้ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างโอกาสครั้งใหม่ในยุคดิจิทัล สำหรับผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ ในทุกอุตสาหกรรม ในทุกช่วงของวงจรธุรกิจ เมื่อพร้อมที่จะปรับธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ก้าวทันตามโลกแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จครั้งใหม่อย่างแน่นอน
หนังสือเปลี่ยนธุรกิจในยุคดิจิทัลStep by Step Digital Transformation In Action จึงเป็นดั่งคู่มือของธุรกิจยุคใหม่ ที่ผู้บริหารและผู้ประกอบการจะได้มีโอกาสเรียนรู้จากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง และเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในยุคดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น เหมาะสำหรับผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจ ทั้งขนาดเล็กไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ราคา 295 บาท วางจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ