กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน ลดลงร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ไตรมาส 3/2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในขณะที่ 9 เดือนแรกยังคงขยายตัวร้อยละ 2.9 ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกคือ น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องปรับอากาศยังส่งผลบวก
นายอิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนกันยายน 2561 ลดลงร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 2.9 (9 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.9) อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 66.35 ซึ่งยังมีอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนกันยายน 2561 ได้แก่ น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) และเครื่องปรับอากาศ
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนกันยายน ได้แก่
น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 107.98 จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบไปเป็นน้ำตาลทรายขาว
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 7.14 จาก PCBA และ Other IC ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 8.57 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามความต้องการของตลาดภายในประเทศภาคการขนส่งที่ดีขึ้น
เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ขยายตัวร้อยละ 17.72 จากเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชาย โดยเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออกไปยังอเมริกาและยุโรปโดยเป็นสินค้าชุดกีฬา และตลาดในประเทศ จากการเร่งผลิตเพื่อรอจำหน่ายในช่วงปลายปี
เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 15.81 จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นไปตลาดญี่ปุ่นรวมถึงตลาดฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น การจำหน่ายในประเทศจากการกระตุ้นยอดขายของผู้ผลิต
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อดัชนีในเดือนกันยายน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมเดือนกันยายนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.3 เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวที่เพิ่มขึ้นมาก และการผลิตทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดส่งออก และผลจากเศรษฐกิจภาพรวมที่กำลังซื้อในประเทศเริ่มแข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการผลิตขยายตัวร้อยละ 32.00 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ