กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมยังคงรั้งอันดับเป็นโรคมะเร็งร้ายที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทยและทั่วโลก ซึ่งมีข้อมูลว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมากถึงร้อยละ 39.43 โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุ 55 ปี ทั้งยังมีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพื่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้หญิงยุคใหม่ที่กลายเป็นตัวเร่งสำคัญในการเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม
รศ.นพ. นรินทร์ วรวุฒิ อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มะเร็งเต้านม เกิดจากเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติภายในเต้านมแล้วกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย ซึ่งจำนวนมากกว่าร้อยละ 95 ของผู้ป่วย มักเป็นโรคมะเร็งเต้านมที่มีสาเหตุจาก ท่อน้ำนม โดยอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง อาทิ ฮอร์โมนเพศหญิง พันธุกรรม โดยมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าหากมี คนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านม ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึงจำนวน 1 ใน 3
นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้วปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่งคือรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งแต่การทำงานเพื่อตามล่าเป้าหมายในชีวิต โดยไม่ได้ให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของตนเองเท่าที่ควร ที่มีชื่อเรียกว่า "ไลฟ์สไตล์มรณะ" ซึ่งมีดังต่อไปนี้
เผชิญภาวะความเครียด ท่ามกลางเศรษฐกิจที่แปรผันตลอดเวลา การแข่งขันทางอาชีพที่เพิ่มสูงขึ้น หรือแม้แต่เป้าหมายในการทำงานที่เพิ่งได้รับจากเจ้านาย ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้มีความกดดัน วิตกกังวล จนส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายได้อย่างง่ายดาย
เร่งทำงานดึกดื่น จากความกดดันในการทำงานให้เป็นไปตามที่ได้รับมอบหมาย แต่กลับโชคร้ายที่ต้องรีบทำงานภายในเวลาที่จำกัด จนต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำและเป็นสาเหตุให้ไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ
ออฟฟิศซินโดรม กลุ่มอาการประจำตัวของมนุษย์ออฟฟิศที่ทุ่มเทเวลาและแรงกายในการทำงาน ทั้งนั่งประจำที่ จ้องหน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จนเริ่มมีอาการปวดตามหลัง ไหล่ คอ ปวดหัว ปวดตา
ชื่นชอบอาหารจานด่วน ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและก็ยังให้รสชาติที่ถูกปากอาหารจานด่วนจึงเป็นที่นิยมอยู่เสมอ แต่หากรับประทานบ่อยเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะส่วนมากอาหารเหล่านี้อาจจะมีสารอาหารที่ไม่ครบถ้วนมากนัก มีกรรมวิธีการทำที่ใช้การทอดโดยใช้น้ำมันเป็นหลัก หรือมีปริมาณโซเดียมสูงมาก เป็นต้น
ไม่สนใจการออกกำลังกาย ทั้งที่แท้จริงแล้วคือพื้นฐานสำคัญและวิธีการที่ง่ายดายในการเสริมสร้างให้สุขภาพมีความแข็งแรง และสามารถช่วยให้จิตใจผ่องใสได้อีกด้วย ซึ่งมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่าการออกกำลังกายอย่างน้อย 4 ครั้ง / สัปดาห์ สามารถช่วยเลี่ยงอัตราเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้อีกด้วย
สำหรับผู้ที่กังวลว่าตนเองอาจอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสามารถเริ่มต้นตรวจสอบตนเองได้อย่างง่ายๆ ด้วยการคลำเต้านมอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำสลับขึ้นลงและไปมาให้ทั่วทั้งเต้านม ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการคลำเต้านมหาความผิดปกติคือช่วงหลังประจำเดือนหมดลงประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่เต้านมจะอยู่ในสภาวะปกติที่สุด หากว่าสามารถสังเกตถึงความผิดปกติของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้ผลการรักษาเป็นไปได้อย่างดีมากยิ่งขึ้น
"แต่สำหรับผู้ที่พบว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว ก็ไม่ควรต้องเป็นกังวลมากนัก แต่ควรตั้งสติ เตรียมพร้อมในการรักษาและศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมอย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการรักษาในปัจจุบันที่มีวิวัฒนาการก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีความแตกต่างกันไปตามแต่ระยะของโรคและชนิดของมะเร็งเต้านม ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การรักษาด้วยยา ทั้งยาต้านฮอร์โมน ยาเคมีบำบัด และยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) ที่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจได้ว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ต่อไป" รศ.นพ. นรินทร์ กล่าวเพิ่มเติม