กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดนิทรรศการ "Yes, Plastic! Things to Rethink. เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่" นิทรรศการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจต่อพลาสติกในแง่มุมที่หลากหลาย เพื่อแสดงแนวทางการอยู่ร่วมกับพลาสติกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์และสร้างมูลค่า ในมิติต่าง ๆ อาทิ การแพทย์และการคมนาคม ฯลฯ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะด้านการออกแบบ ผสมผสานกับความเข้าใจด้านวัสดุ ผ่านผลงานจัดแสดง ใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนที่หนึ่ง: เริ่มคิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น นำเสนอแนวคิดใหม่ในการใช้พลาสติกที่คิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น 2.ส่วนที่สอง: คำถามและการใช้พลาสติก สร้างความเข้าใจคุณสมบัติของพลาสติก ผ่านการตั้งคำถามทั้ง 4 คำถาม และ 3.ส่วนที่สาม: โมเดลการอยู่ร่วมกันในอนาคต สะท้อนให้เห็นแนวคิดในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์และพลาสติกในอนาคต โดยมีผลงานไฮไลท์ อาทิ หุ่นจำลอง "เทพีไนกี้" สูง 2.5 เมตร จากพลาสติกที่มีรายละเอียดเหมือนหินอ่อน ถนนพลาสติกและอวัยวะเทียมที่สร้างจากพลาสติก
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ถึง 17 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.30-21.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ณ ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-105-7400 #213, 214 หรือเว็บไซต์ tcdc.or.th
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) จัดนิทรรศการ "Yes, Plastic! Things to Rethink. เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่" นิทรรศการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจต่อพลาสติกในแง่มุมที่หลากหลาย นำเสนอผ่านผลงานจัดแสดงที่สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกับพลาสติกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์และสร้างมูลค่า ในหลากหลายมิติ อาทิ โอกาสทางการแพทย์ พัฒนาการคมนาคมและงานศิลปะ ซึ่งล้วนเกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะด้านการออกแบบ ผสมผสานกับความเข้าใจด้านวัสดุ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่
1. ส่วนบทนำ ส่วนจัดแสดงที่จะสร้างประสบการณ์อันน่าเหลือเชื่อให้กับผู้ชมผ่านผลงานไฮไลท์ ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของพลาสติกและพลาสติกรีไซเคิล จากการผสมผสานงานช่างและเทคโนโลยี ออกมาเป็นผลงานศิลปะ อาทิ หุ่นจำลอง "เทพีไนกี้" อนุสรณ์แห่งชัยชนะ (The Winged Victory of Samothrace) สูง 2.5 เมตร ที่มีรายละเอียดสวยงามไม่ต่างจากหินอ่อน และ "จิตรกรรมฝาผนังของราฟาเอล" ภาพจำลองศิลปะยุคเรเนซองส์แห่งสำนักเอเธนส์ (School of Athens)
2. ส่วนที่หนึ่ง: เริ่มคิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น ส่วนจัดแสดงที่นำเสนอแนวคิดใหม่ในการใช้พลาสติก ที่เปลี่ยนจากการจัดการขยะพลาสติกที่ขั้นตอนสุดท้าย มาเป็นการกำหนดเส้นทางการใช้พลาสติก ตั้งแต่เริ่มต้นการเลือกใช้วัสดุ กระบวนการผลิต จนถึงการกำจัดหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีผลงานจัดแสดงอาทิ หนังสือเครเดิล ทู เครเดิล (Cradle to Cradle) หนังสือที่พิมพ์บนแผ่นพลาสติกแทนกระดาษ ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่า "ความรู้ไม่ควรสูญหายไปตามกาลเวลา" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเลือกใช้พลาสติกที่มีคุณสมบัติคงทนและไม่ย่อยสลายง่าย
3. ส่วนที่สอง: คำถามและการใช้พลาสติก ส่วนจัดแสดงที่จะสร้างความเข้าใจคุณสมบัติของพลาสติก ผ่านการตั้งคำถามทั้ง 4 คำถาม ที่จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการใช้พลาสติกในรูปแบบใหม่ ได้แก่ 1) พลาสติกจะหายไปได้อย่างไร 2) พลาสติกแข็งแรงได้ขนาดไหน 3) พลาสติกทดแทนอะไรได้บ้าง และ 4) พลาสติกมีชีวิตได้หรือไม่ โดยมีผลงานตัวอย่าง อาทิ ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายโดยหนอนผีเสื้อกลางคืน ถนนพลาสติก สินค้าหรูที่ผลิตจากพลาสติกและอวัยวะเทียมของมนุษย์ที่สร้างจากพลาสติก
4. ส่วนที่สาม: โมเดลการอยู่ร่วมกันในอนาคต ส่วนจัดแสดงที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์และพลาสติกในอนาคต (New Plastic Economy) ซึ่งเป็นแนวทางที่เน้นให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบวงจรการใช้พลาสติก ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การใช้งาน และการรีไซเคิล โดยก่อให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุด ตลอดจนสามารถหมุนเวียนกลับคืนสู่ระบบการผลิตอีกครั้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อย่างที่ทราบดีว่า ปัจจุบันการผลิตขยะพลาสติกจะมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขยะพลาสติกส่วนใหญ่จะถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบ เผาหรือทิ้งลงมหาสมุทร ซึ่งล้วนเป็นต้นเหตุการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยตรง โดยปัญหาปริมาณขยะพลาสติกล้นโลกนี้เป็นสภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ แม้การรณรงค์ให้ลดหรือเลิกการใช้พลาสติกจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ในความเป็นจริง มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากพลาสติกมาแล้วกว่า 150 ปี จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลิกใช้พลาสติกจึงเป็นเรื่องยาก นิทรรศการ "Yes, Plastic! Things to Rethink เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่" จึงทำการนำเสนอแนวทางการจัดการขยะพลาสติกในอีกรูปแบบ ที่เปลี่ยนมุมมองจากขยะที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลาย 450 ปี เป็นวัสดุที่มีความคงทน แข็งแรง และอยู่ได้ถึง 450 ปี เพียงใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะด้านการออกแบบ นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำว่า ความคิดสร้างสรรค์คือเครื่องมือสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ นายกิตติรัตน์ กล่าว
ด้าน นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) มีการดำเนินงานที่มุ่งมั่นใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาเคมีภัณฑ์ในหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน เพื่อเป็นการลดการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของนิทรรศการ "Yes, Plastic! Things to Rethink. เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่" ที่ต้องการให้ประชาชนชาวไทยได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะด้านการออกแบบ หาแนวทางการอยู่ร่วมกับพลาสติกในรูปแบบใหม่โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ GC ยังคงสานต่อความมุ่งมั่นดังกล่าว ด้วยการจัดแสดงผลงานสุดสร้างสรรค์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2018" (Chiang Mai Design Week 2018) ที่จะจัดขึ้น ณ จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงปลายปีนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ งานแถลงข่าวเปิดนิทรรศการ "Yes, Plastic! Things to Rethink. เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่" จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ โดยมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ถึง 17 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.30-21.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ณ ห้องแกลอรี่ ชั้น 1อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-105-7400 #213, 214 หรือเว็บไซต์ tcdc.or.th
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) (CEA) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2561 อันมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2561 โดยเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านที่ดูแลด้านนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ซึ่งมีศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นหน่วยงานย่อยภายใต้การดูแล อันมีหน้าที่เป็น "พื้นที่สร้างสรรค์" หรือพื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และทักษะด้านการออกแบบ (Design Thinking)