กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มดำเนินโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพได้มาตรฐาน เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม มีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการรวมกันผลิตและร่วมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรดำเนินการติดตามประเมินการดำเนินโครงการ รวมทั้งศึกษาและเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตข้าว และประสิทธิภาพเชิงเทคนิคของการผลิตข้าวในพื้นที่แปลงใหญ่และนอกพื้นที่โครงการแปลงใหญ่
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาต้นทุน การผลิตประสิทธิภาพเชิงเทคนิคของการผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่กรณีศึกษาแปลงใหญ่ข้าว ในพื้นที่ภาคตะวันตก ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) ได้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่แปลงใหญ่ และนอกพื้นที่แปลงใหญ่ ในจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี รวม 160 ราย
ผลการศึกษา พบว่า ต้นทุนเฉลี่ยการผลิตข้าวของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ตั้งแต่ปี 2559/2560 ต่ำกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ โดยต้นทุนเฉลี่ยของการผลิตข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่อยู่ที่ 3,676 บาท/ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 839.70 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 2,327 บาท/ไร่ ในขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยของเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 4,105 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 808 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,576 บาท/ไร่
ทั้งนี้ ต้นทุนส่วนใหญ่ลดลงจากค่าวัสดุอุปกรณ์ เช่น เมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และสารเคมี โดยที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 23.11 กิโลกรัม/ไร่ มีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ร้อยละ 74 รวมกลุ่มกันเพื่อจัดทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อลดต้นทุน ร้อยละ 84 มีการรวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิตเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง ร้อยละ 80 และทุกคนได้รับการอบรมความรู้ด้านการเกษตรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ ในขณะที่เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ มีอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 25.89 กิโลกรัม/ไร่ มีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ร้อยละ 11 มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดทำปุ๋ยชีวภาพ ร้อยละ 9 รวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิต ร้อยละ 3 และได้รับการอบรมด้านการเกษตร ร้อยละ 40 ส่งผลให้การใช้ปัจจัยการผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการว่ามีความเหมาะสมมากกว่าเกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมโครงการ
อย่างไรก็ตาม ควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ การลดการใช้สารเคมี ปรับลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน ส่งเสริมการรวมตัวกันผลิตเป็นกลุ่ม ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าแรงงานลงได้ และควรส่งเสริมให้เกษตรกรจดบันทึกข้อมูลการผลิต รายรับ-รายจ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลมาปรับปรุงเพื่อลดต้นทุนการผลิต และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี โทร. 0 3233 7954 หรือ อีเมล zone10@oae.go.th