กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--โน้ตเอเบิ้ล แบงค์คอก
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เรียกว่า Bigrock เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง ควบคู่ไปกับการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้และโอกาสอย่างทั่วถึง วท. จึงได้กำหนดเป็นนโยบายที่เรียกว่า "วิทย์แก้จน" โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินโครงการ "ยกระดับ OTOP ในพื้นที่ ๑๐ จังหวัดเป้าหมาย" ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาและจัดระเบียบ องค์ความรู้แล้ว ไปถ่ายทอดสู่กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP จำนวน ๒,๐๐๐ กลุ่มใน ๑๐ จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน ตาก นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และจังหวัดชัยนาท เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้น สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
การจัดงานพัฒนาผู้นำกลุ่ม OTOP ให้มีทักษะในด้านตลาดที่จำเป็น การตลาดดิจิทัล และการบริหารจัดการกลุ่ม เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ "ยกระดับ OTOP ในพื้นที่ ๑๐ จังหวัดเป้าหมาย" เพื่อส่งเสริมให้ผู้นำกลุ่ม OTOP จำนวน 200 ราย จาก 10 จังหวัดเป้าหมาย มีความรู้และความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ และนำไปใช้พัฒนากลุ่มของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับให้กับกลุ่ม OTOP อื่นๆในจังหวัดของตนเองต่อไปในอนาคต
"ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์" กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านการตลาดที่จำเป็น การตลาดดิจิทัล และการบริหารจัดการกลุ่ม พร้อมเสริมสร้างภาวะผู้นำและทักษะการตัดสินใจ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ด้านการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ ตลอดจนเรียนรู้การต่อยอดโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้นำกลุ่ม OTOP จำนวน 200 ราย ที่มาจาก 10 จังหวัดเป้าหมายของโครงการ
โดยกิจกรรมต่างๆ ภายในงานมีทั้งการบรรยาย การ Workshop หรือ Case Study โดยทีมวิทยากรจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจากการศึกษาดูงาน การทดสอบตลาดเก็บข้อมูลลูกค้าจริง เพื่อนำมาวางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ รวมทั้งให้มีการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าอบรมที่มาจากต่างพื้นที่ให้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันต่อไป โดยจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม – ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
โครงการ "ยกระดับ OTOP ในพื้นที่ ๑๐ จังหวัดเป้าหมาย" ครั้งนี้นับเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมทั้งของใช้และของตกแต่งให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งเป็นการกระจายโอกาสและความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมของประเทศ แม้ว่าการที่กลุ่มเป้าหมายได้รับการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับหนึ่งแล้ว แต่การมีผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ดีไม่ได้หมายความว่ากลุ่มผู้ประกอบการ OTOP จะดำเนินธุรกิจไปได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน จำเป็นต้องมีทักษะด้านการตลาด รวมทั้งรู้จักใช้ประโยชน์จากการตลาดดิจิทัล และมีการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี จึงจะนำไปสู่การมีลูกค้าที่ต่อเนื่อง มียอดขายสม่ำเสมอ นำมาสู่รายได้ที่ยั่งยืนของสมาชิกในกลุ่ม