กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง ได้ดำเนินโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 เพื่อนำเงินบริจาคไปรวมกับเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าสุรายาสูบ (ร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาทต่อปี) และนำมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจำนวน 3.6 ล้านคน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งขณะนี้กองทุนผู้สูงอายุได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวแล้วเป็นจำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และจำนวน 50 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยในเบื้องต้นกองทุนผู้สูงอายุได้กำหนดจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 – มีนาคม 2562 และจะพิจารณาจำนวนเงินช่วยเหลือในระยะต่อไปให้สอดคล้องกับเงินที่เข้ากองทุน
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ต้องการบริจาคเบี้ยยังชีพ กระทรวงการคลังจึงได้กำหนดให้มีช่องทางการรับแจ้งบริจาคผ่านธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมจากช่องทางที่รับแจ้งบริจาคอยู่ในปัจจุบัน โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์จะเริ่มรับแจ้งบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป ดังนั้น ผู้รับเบี้ยยังชีพฯ ท่านใดมีความประสงค์จะบริจาคเบี้ยยังชีพฯ สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชน (หรือมอบอำนาจ) มาที่หน่วยงาน ดังต่อไปนี้
1. สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร
2. สำนักงานเทศบาล
3. สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
4. สำนักงานเมืองพัทยา
5. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)
6. สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด (สถจ.)
7. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
8. คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.)
- สำนักงานคลังจังหวัด
- สำนักงานสรรพากรพื้นที่
- สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่
- สำนักงานธนารักษ์พื้นที่
- ด่านศุลกากร
- สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยภาคและจังหวัด
- สถาบันการเงินของรัฐ (ทุกสาขา)
ธนาคารออมสิน
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
9. สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ (กรณีแจ้งบริจาคในต่างประเทศ สามารถใช้หนังสือเดินทางแทนบัตรประจำตัวประชาชนได้)
10. ธนาคารพาณิชย์ (ทุกสาขา)
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (เริ่มรับแจ้งบริจาค 19 พฤศจิกายน 2561)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อยู่ระหว่างกำหนดวันที่เริ่มรับแจ้งบริจาค)
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้รับเบี้ยยังชีพฯ มอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแจ้งบริจาคแทน ให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย และเพื่อเป็นการตอบแทนความเสียสละของผู้บริจาคเบี้ยยังชีพฯ ภาครัฐจะจัดส่งเหรียญเชิดชูเกียรติ ซึ่งเป็นเหรียญพระคลังมหาสมบัติ วัสดุทองแดงชุบทอง เพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้บริจาค อีกทั้ง ผู้บริจาคจะได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินเบี้ยยังชีพฯ ที่บริจาคเข้ากองทุนผู้สูงอายุด้วย ซึ่งกองทุนผู้สูงอายุจะจัดส่งใบเสร็จให้แก่ผู้บริจาคทุกเดือน อย่างไรก็ดี เพื่อให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มี รายได้น้อยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้บริจาคอย่างน้อย 12 เดือนจึงจะแจ้งยกเลิกการบริจาคได้
นายลวรณฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนผู้ที่รับเบี้ยยังชีพฯ อยู่ในปัจจุบัน ที่มีฐานะมั่นคงอยู่แล้ว ให้มาบริจาคเบี้ยยังชีพฯ เพื่อกองทุนผู้สูงอายุจะได้นำเงินดังกล่าวมาช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งมี ความเป็นอยู่ยากลำบาก จำนวนกว่า 3.6 ล้านคน ให้มีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02-273-9020 ต่อ 3638, 3643, 3688
โทรสาร 02-273-9987