กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ จ.เชียงราย เยี่ยมชมโครงการ วิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบการผลิต ส่งเสริมความยั่งยืนและสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนร่วมกันอนุรักษป่าต้นน้ำ พร้อมพบปะพูดคุย กสท และทีโอที ร่วมสนับสนุนปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตทีมหมูป่าในถ้ำหลวง
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในครั้งนี้ เพื่อติดตามและตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดฯ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ว่า ได้ไปตรวจราชการ ที่วิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่า บ้านขุนลาว ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
วิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ได้รับความสนับสนุนแอพพลิเคชั่นการตรวจรับรองมาตรฐานภายใน Internal Control System (ICS) บนแพลตฟอร์มคลาวด์ "ไมโครซอฟท์ อาซัวร์" จากบริษัทไมโครซอฟท์ ช่วยพนักงานประหยัดระยะเวลา และขั้นตอนในการตรวจรับรองมาตรฐานอินทรีย์ของกระบวนการและผลผลิตกาแฟจาก 4 เดือนเหลือเพียง 1 เดือน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบการตรวจสอบ
สำหรับโครงการนี้ ได้ดำเนินการผลิตกาแฟอาราบิก้าด้วยระบบวนเกษตรอินทรีย์ เพื่อรักษาผืนป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนของชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีเกษตรกรเข้าร่วม 350 ครอบครัว ใน 9 หมู่บ้าน ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ากว่า 8,000 ไร่ ใน 3 ป่าต้นน้ำของอุทยานขุนแจและลำน้ำกก โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ให้ได้ 20,000 ไร่ ภายในปี 2568
การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในโครงการนี้ สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนของรัฐบาลในการสร้างความตระหนักให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงดิจิทัลฯ คือ การสร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงและเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยี เพื่อประชาชนทุกกลุ่มจะสามารถได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกร ผู้ที่อยู่ในชุมชนห่างไกล ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ โดยเพิ่มความเข้าใจและมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์
นอกจากนี้ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมสำนักงานบริการลูกค้า ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (หรือ CAT) ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย โดยเข้ารับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของหน่วยงาน และความคืบหน้าโครงการเคเบิลใต้น้ำ รวมทั้งเดินทางไปเยี่ยมชมระบบ CAT EDI ณ ด่านแม่สาย ซึ่งอยู่ห่างจากสำนักงาน กสท ประมาณ 3 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กสท โทรคมนาคม ได้ดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาค (ASEAN Digital Hub)" ยกระดับโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างประเทศของประเทศไทย ให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น มีเสถียรภาพและความจุเพียงพอ สามารถรองรับความต้องการของประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เป็นผลให้เกิดการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน
โดยโครงการฯ จะมีการดำเนินการ ดังนี้ 1.การขยายความจุโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศของระบบที่มีอยู่ 2. การเพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์พร้อมระบบต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อเพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังสถานีเคเบิลใต้น้ำจังหวัดชลบุรี เพชรบุรี สงขลา สตูลและกับศูนย์โทรคมนาคมของ บมจ. กสท โทรคมนาคม และ 3. การร่วมก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ที่เชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ความสำเร็จของโครงการนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนี้ 1.เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพื่อรองรับการใช้อินเทอร์เน็ตที่เติบโตสูงขึ้น ทำให้ไทยพัฒนาขีดความสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่สำคัญของภูมิภาค และสามารถพัฒนาขึ้นเป็น ASEAN Digital Hub ตอนบนได้
2.ทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจ ในการลงทุนตั้งฐานข้อมูลของ Content Provider รายสำคัญ ได้แก่ เฟซบุ๊ก กูเกิล ในประเทศไทยมากขึ้น 3.ทำให้ประเทศไทยมีโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพิ่มความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของโครงข่ายระหว่างประเทศ
4.ทำให้การต่อเชื่อมวงจรผ่านประเทศไทยมีราคาต่ำลง ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายลดลง ตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากขึ้น และ 5.เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยลดต้นทุนด้านการเชื่อมต่อต่างประเทศลงมากกว่า 10% ดึงดูดธุรกิจข้ามชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น เกิดการจ้างงานระดับสูงเพิ่มขึ้น
โดยรมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ร่วมพูดคุยกับคณะเจ้าหน้าที่ กสท และทีโอที ซึ่งเข้าร่วมสนับสนุนปฏิบัติการค้นหานักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิตในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย พร้อมมอบของที่ระลึก เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ
ในภารกิจสนับสนุนปฏิบัติการค้นหาทีมหมูป่า ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้เร่งแก้อุปสรรคสื่อสารเพื่อช่วยเหลือในการค้นหา โดย กสท ได้ขยายช่องสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้สามารถรับโทรศัพท์ได้เร็วและกว้างขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่บริเวณปากถ้ำและบริเวณพื้นที่โดยรอบได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริเวณปากถ้ำ และการสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร รวมถึงรถถ่ายทอดสัญญาณวิทยุสื่อสารพร้อมอุปกรณ์ (Mobile Unit)
พร้อมทั้งยังทำการลากสาย Drop Wire จากปากถ้ำเข้าไปในถ้ำประมาณ 1,300 เมตร เพื่อให้สามารถใช้โทรศัพท์ประจำที่ในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่หน่วยซีลที่เข้าไปในถ้ำ เพื่อประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ง่ายขึ้น และขยายวางสายไฟเบอร์ออปติกและจะติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตไวไฟแก่เจ้าหน้าที่ในการติดต่อสื่อสารกันได้เพิ่มขึ้น
ขณะที่ ทีโอที ได้ติดตั้งโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตผ่านระบบดาวเทียม IP STAR จำนวน 1 วงจร 2 MHz ให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ใช้งานเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของทีมค้นหา ติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตผ่านใยแก้วนำแสง FTTx ความเร็ว 100/50 Mbps พร้อมระบบโทรศัพท์ IP Phone เพิ่มเติมให้กับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ และหน่วยงานที่เข้าร่วมช่วยเหลือกู้ภัยบริเวณหน้างาน
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองหน่วยงานยังเข้าไปประจำพื้นที่ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยซีลให้ปฏิบัติภารกิจการค้นหาได้อย่างสำเร็จลุล่วงอีกด้วย