กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--NBTC Rights
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ
ในที่สุดกลุ่มบริษัทดีแทคก็ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ถือเป็นเอกชนรายสุดท้ายที่สิ้นสุดสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ แล้วเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบใบอนุญาตอย่างเต็มตัว
ในอดีตประเทศไทยเริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้สัญญาร่วมการงานหรือเรียกกันว่าระบบสัมปทาน โดยมีทีโอทีถือครองคลื่น 900 MHz กสท โทรคมนาคมถือครองคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz แล้วให้เอกชนคือ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เป็นคู่สัญญาสัมปทานตามลำดับ
ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ตามกฎหมาย ซึ่งมี กทช. เป็นคณะกรรมการชุดแรก และถูกเปลี่ยนสภาพเป็น กสทช. เมื่อปี 2554 ก็ไม่มีการให้สัมปทานคลื่นความถี่ใดๆ เพิ่มได้อีก เพราะคลื่นความถี่ถูกกำหนดให้เป็นสมบัติของประเทศเพื่อประโยชน์สาธารณะ และการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการประกอบธุรกิจต้องดำเนินการโดยวิธีประมูล แต่คลื่นที่ได้รับอนุญาตตามระบบสัมปทานเดิมยังได้รับการคุ้มครองสิทธิจนกว่าจะสิ้นสุดสัมปทาน แล้วจึงนำมาจัดสรรใหม่ด้วยวิธีการประมูล
ผ่านมา 7 ปีนับแต่มี กสทช. สัมปทานของเอกชนทุกรายต่างทยอยสิ้นสุด จนสัมปทานของดีแทคสิ้นสุดเป็นรายสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา เอกชนแต่ละรายต่างเข้าร่วมประมูลเพื่อช่วงชิงคลื่นความถี่เดิมที่เคยได้รับในระบบสัมปทานเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง และพยายามช่วงชิงคลื่นความถี่ย่านที่ตนไม่เคยมีเพื่อขยายบริการเพิ่มขึ้นแข่งกับรายอื่น
การประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เป็นการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz อันเป็นคลื่นว่างที่ไม่เคยเปิดให้บริการมาก่อน รวม 90 MHz (2x45 MHz) ผลการจัดสรรคลื่นลงตัวพอดี คือเอกชนที่เข้าร่วมประมูล3 รายได้คลื่นรายละ 30 MHz (2x15 MHz) ด้วยราคาชนะประมูลรวม 41,625 ล้านบาท การประมูลครั้งนั้นตกเป็นข่าวอื้อฉาว เนื่องจากไม่มีการแข่งขันในการประมูลและราคาที่ชนะต่ำกว่าราคาประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ตามผลการศึกษามากกว่าหมื่นล้านบาท แต่ก็ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุค 3G อย่างเต็มตัว การใช้งาน Mobile Broadband แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ปริมาณการใช้งาน Data เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนจากระดับเมกะไบต์พุ่งสู่ระดับกิกะไบต์ เพราะความเร็วในการดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
ต่อมาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ของทรูมูฟและดีพีซี (หนึ่งในกลุ่มเอไอเอส) สิ้นสุดลงเป็นชุดแรกเมื่อปี พ.ศ. 2556รวมปริมาณคลื่นที่สิ้นสัมปทาน 50.4 MHz (2x25.2 MHz) แต่ไม่มีการจัดประมูลอย่างทันการณ์ ทำให้มีการให้บริการต่อโดยเรียกกันว่า "การเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ" จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2558 จึงมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 60 MHz (2x30 MHz) ซึ่งกลุ่มบริษัทที่เคยถือสัมปทานเดิมต่างชนะประมูลคลื่นเพื่อนำกลับไปให้บริการต่อ และแม้กลุ่มดีแทคจะไม่เคาะราคาแข่ง แต่ก็มีกลุ่มแจสเป็นหน้าใหม่ที่เข้ามาเคาะราคาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เข้าร่วมประมูลจริงมากกว่าจำนวนคลื่นที่เปิดประมูล ในครั้งนี้จึงได้ราคาชนะประมูลรวมถึง 80,778 ล้านบาท สูงกว่าราคาเฉลี่ยจากการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่
ตามมาด้วยการสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 900 MHz ของเอไอเอสเมื่อปี พ.ศ. 2558 อีก 35 MHz (2x17.5 MHz) แม้ กสทช. จะพยายามเตรียมจัดประมูลล่วงหน้าก่อนสัมปทานจะสิ้นสุด แต่ในที่สุดมีการจัดประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 40 MHz (2x20 MHz) ในเดือนธันวาคม 2558 หลังจากการประมูลคลื่น 1800 MHz เพียง 1 เดือน ในครั้งนี้ กลุ่มเอไอเอส กลุ่มดีแทค กลุ่มทรูมูฟ และกลุ่มแจส ต่างเคาะราคาช่วงชิงคลื่นกันอย่างถึงพริกถึงขิง จนราคาทำลายสถิติโลก แม้ทรูมูฟและแจสจะเป็นผู้ชนะ แต่ต่อมาแจสไม่มาชำระเงิน จึงต้องจัดประมูลอีกครั้งด้วย ม. 44 จนกลุ่มเอไอเอสพลิกกลับมาชนะประมูล ทำให้ราคาชนะประมูลรวมสูงถึง 151,952 ล้านบาท
การประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz เมื่อปลายปี 2558 ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ การเข้าร่วมของกลุ่มแจสได้เพิ่มสภาพการแข่งขันในตลาดหลังการประมูลอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคไทยคาดหวังที่จะเห็นผู้ให้บริการหน้าใหม่ นอกจากนั้นยังทำให้ต้นทุนคลื่นความถี่ของอุตสาหกรรมพุ่งสูงขึ้นอย่างมหาศาล ในทางกลับกันก็สร้างรายได้มหาศาลให้แก่รัฐ จนปัจจุบันรัฐคาดหวังรายได้จากคลื่นความถี่เป็นรายได้ก้อนสำคัญที่จะมาเสริมงบประมาณรายรับของประเทศอย่างจริงจัง และจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4G อย่างเต็มตัว ปริมาณการใช้ Mobile Broadbandพุ่งขึ้นอย่างมากตามการใช้งานวิดีโอสตรีมมิ่งผ่าน Social Network หรือผ่านบริการวิดีโอต่างๆ จนปริมาณการใช้งาน Dataเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนจากระดับ 2 กิกะไบต์ในยุค 3G พุ่งสู่ระดับ 6 กิกะไบต์ จนทำให้ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่า 4G ในปัจจุบันช้าลง เพราะปริมาณการใช้งานที่คับคั่งนั่นเอง
ล่าสุดสัมปทานคลื่น 850 MHz จำนวน 20 MHz (2x10 MHz) และสัมปทานคลื่น 1800 MHz จำนวน 100 MHz (2x50 MHz) ของดีแทคก็สิ้นสุดลงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และ กสทช. ได้จัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน90 MHz (2x45 MHz) แต่มีผู้สนใจประมูลเพียง 20 MHz (2x10 MHz) ทำให้มีคลื่น 1800 MHz คงค้างกับ กสทช. ถึง 70 MHz (2x 35 MHz) สาเหตุอาจเป็นเพราะ กสทช. ยืนราคาเริ่มต้นประมูลไว้สูงมากตามราคาชนะประมูลเมื่อปี 2558 ทำให้ไม่คุ้มค่าที่เอกชนจะมาแย่งคลื่นไปทำกำไร อย่างไรก็ตาม ราคาชนะประมูลรวมในครั้งนี้ก็สูงถึง 25,022 ล้านบาท
ในส่วนคลื่น 850 MHz กสทช. ได้ Reband มาจัดสรรเป็นคลื่น 900 MHz เพื่อลดปัญหาการรบกวนกันระหว่างย่าน850 MHz และย่าน 900 MH แต่เนื่องจากได้จัดสรรคลื่นนี้ครึ่งหนึ่งให้กับระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟความเร็วสูง จึงมีคลื่นส่วนที่เหลือออกประมูลจำนวน 10 MHz (2x5 MHz) โดยกลุ่มดีแทคชนะประมูลไปด้วยราคา 38,064 ล้านบาทเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ทำให้ไม่เหลือคลื่นย่านนี้ที่จะนำมาประมูลได้อีก และนับเป็นการสิ้นสุดยุคสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเต็มตัว โดยการประมูลครั้งนี้คงจะเป็นการประมูลครั้งท้ายๆ ก่อนเข้าสู่ยุค 5G ซึ่งจะพลิกโฉมบริการ Mobile Broadbandอย่างขนานใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การประมูลในปีนี้จึงคงไม่ใช่จุดเปลี่ยนของบริการในตลาด Mobile Broadbandเหมือนการประมูลเมื่อปี 2555 และปี 2558
อย่างไรก็ดี การประมูลในปีนี้ทำให้เกิดความชัดเจนว่า อย่างน้อยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักทั้งสามราย คือ กลุ่มเอไอเอส กลุ่มดีแทค และกลุ่มทรู ยังคงปักหลักให้บริการในประเทศไทยต่อไปครบทั้งสามราย ในระยะ 7 ปีที่ผ่านมา แม้ กสทช. ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการมือถือ แต่อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ผู้เล่นหลักลดน้อยไปกว่าเดิม ซึ่งดีต่อการก้าวสู่ยุค 5G ในทางกลับกัน หากประเทศไทยเหลือผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย การผูกขาดตลาดในยุค 5G จะกระทบภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องให้บริการยุคดิจิทัลผ่านโครงข่าย 5G ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวมเติบโตช้าและขาดประสิทธิภาพได้
นอกจากการจัดประมูลคลื่นความถี่แล้ว กสทช. ยังได้เพิ่มปริมาณคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าสู่ตลาด โดยยอมให้ทีโอทีใช้คลื่น 2300 MHz ซึ่งเดิมใช้กับบริการโทรศัพท์ทางไกลสาธารณะชนบทมาให้บริการ 4G ได้อีกจำนวน 60 MHz ซึ่งทีโอทีได้จับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มดีแทคเพื่อเสริมบริการ 4G ให้กับประเทศ
เท่ากับว่า 7 ปีของ กสทช. แม้สัมปทานคลื่นความถี่จะสิ้นสุดลงรวม 205.4 MHz และมีการประมูลกลับไปใช้งานเพียง 130 MHz แต่ กสทช. ก็ได้จัดสรรคลื่น 2100 MHz เข้าสู่ตลาด 90 MHz และได้อนุญาตให้ใช้คลื่น 2300 MHz บริการ4G อีก 60 MHz รวมคลื่นที่ กสทช. ป้อนเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทุกวิธีการได้ 280 MHz ไม่รวมคลื่นความถี่ซึ่งทีโอที และ กสท โทรคมนาคมยังถือครองจนถึงปี 2568 อีก 60 MHz (2x30 MHz) และหากเกิดความคับคั่งในการใช้งาน 4Gกสทช. ก็ยังมีคลื่น 1800 MHz ที่จะเสริมเข้าสู่ตลาดได้อีก 70 MHz (2x35 MHz) ก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ยุค 5G ที่จะให้บริการบนคลื่นย่าน 700 MHz ย่าน C Band และย่าน Millimeter waves
ในแง่รายได้ นอกจากเงินจากการประมูลคลื่นความถี่รวมกว่า 337,000 ล้านบาท ยังมีรายได้จากการให้บริการในช่วงมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการอีกกว่า 11,000 ล้านบาท แต่เอกชนยังไม่ยินยอมจ่ายและนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง
สรุปแล้ว นับแต่นี้ไป บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยได้สิ้นสุดยุคสัมปทานแล้วโดยสมบูรณ์ ในส่วนบริการที่ถูกครหาว่าเป็นสัมปทานจำแลงนั้น ก็เป็นหน้าที่ขององค์กรตรวจสอบที่ต้องเร่งดำเนินการตามกฎหมาย แต่ไม่ว่าจะเป็นสัมปทานจำแลงจริงหรือไม่ก็ตาม ในที่สุดอายุดำเนินการก็จะไม่เกินปี 2568 ตามสิทธิการถือครองคลื่นของรัฐวิสาหกิจที่ทำสัญญาอยู่ดี