กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วิกฤตพลังงานกำลังคุกคามโลกอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการใช้พลังงานของมนุษย์โลกที่มีอัตราสูงขึ้นอย่างมาก สวนทางกับพลังงานฟอสซิลบางชนิดที่กำลังลดลง โดยคาดการณ์ว่าหากไม่มีการค้นหาแหล่งผลิตเพิ่มเติม อาจจะหมดไปในระยะเวลาไม่เกิน 50 ปีต่อจากนี้
มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากบทบาทหน้าที่ในการวิจัย และผลิตบัณฑิตแล้ว ยังตระหนักถึงวิกฤติพลังงานของโลก โดยระบุเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กร ตามนโยบาย Green and Smart Campus คือ เป็นองค์กรที่บริหารอย่างชาญฉลาดและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ "อนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น " สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ทั้งนี้ เพื่อดึงศักยภาพของพลังงานหมุนเวียน ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้การดำเนินงานบนพื้นที่กว่า 5,500 ไร่บุคลากรกว่า 11,406 นักศึกษากว่า 36,569 เมื่อรวมประชากรที่ใช้บริการมหาวิทยาลัยแล้วมากกว่า 80,000 คน ต่อวัน อาคารกว่า 200 อาคาร ที่ล้วนแต่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทั้งสิ้น ถือเป็นอีกหนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี
ผศ.พนมชัย วีระยุทธศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ภายใต้โครงการอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่ผสานโซลาร์ฟาร์ม และการบำบัดน้ำวางท่อใช้ซ้ำ โดยทั้งสองโครงการนี้สอดคล้องกับ นโยบาย Green & Smart Campus เป็นการพัฒนาพื้นที่และสิ่งแวดล้อมให้เป็น สีเขียวและสะอาด เพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้วลดค่าใช้จ่าย สนับสนุน Clean Energy ใช้พลังงานสะอาด พยายามลดปริมาณน้ำแม้ผ่านการบำบัดแล้วไม่ให้ไหลออกสู่สาธารณะมากจนเกินไป เพราะหากบริหารจัดการไม่ดี น้ำอาจจะไปท่วมพื้นที่ท้ายน้ำเป็นปัญหาแก่เกษตรกรในชุมชนได้
สำหรับการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่ ผสานโซลาร์ฟาร์ม สืบเนื่องจากสถานีแห่งเดิมครบอายุการใช้งาน (20 - 30 ปี) และการก่อสร้างแห่งใหม่มีงบประมาณเหลือจากการไม่ต้องเดินสายไฟไกลจึงมีแนวนโยบายก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม 1 เมกะวัตต์ และได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากกระทรวงพลังงาน จึงได้รับการจัดสรรมาเพิ่มอีก 1 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบัน 1 โซลาร์ฟาร์ม สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้โดยเฉลี่ย 20,000 บาทต่อวัน (เทียบเคียงกับค่าไฟปกติ หน่วยละ 3.50 บาท ปี2561) ฉะนั้น 2 โซลาร์ฟาร์ม จะผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 40,000 บาท ต่อวัน ลดปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้มากถึงปีละ 12 ล้านบาท ต่อปี ( ถัวเฉลี่ย 10 เดือนที่มีปริมาณแดดจัด)
ส่วนการบำบัดน้ำมาใช้ซ้ำ เริ่มจากแต่เดิมนั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่นซื้อน้ำดิบมาผลิตน้ำประปา เมื่อผ่านการใช้งานจะกลายเป็นน้ำเสีย ส่งไปยังระบบบำบัด ก่อนจะเป็นน้ำทิ้งปล่อยออกสู่ระบบชลประทานสาธารณะสู่ลำน้ำพองต่อไป มหาวิทยาลัยขอนแก่นตระหนักถึงการประหยัดพลังงาน จึงใช้งบประมาณกว่า 3.7 ล้านบาท เพื่อวางระบบท่อ "น้ำใช้ซ้ำ" จากโรงบำบัดน้ำเสีย มุ่งตรงไปยังบึงสีฐานกักเก็บไว้ยังบึงสีฐานทั้งสองฝั่ง แบ่งเป็นงานวางท่อสายหลัก 2.4 กิโลเมตร และงานวางท่อสายย่อย 1.4 กิโลเมตร รวมกว่า 3.8 กิโลเมตร เพื่อวางท่อน้ำใช้ซ้ำ สำหรับใช้ในการรดน้ำต้นไม้ (ปกติใช้น้ำดิบซึ่งมีต้นทุน) แทนที่จะปล่อยน้ำเสียทิ้งไปยังระบบชลประทานสาธารณะ ก็นำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ซ้ำรดน้ำต้นไม้ สะพานสวนไทร ลานธงหน้าศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก สวนป่าที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนสาธิตศึกษาศาสตร์ และสวนต่างๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำดิบได้วันละประมาณ 200 ลบ.ม./วัน เฉลี่ยประมาณ 100 บาทต่อวัน
ผศ.พนมชัย กล่าวด้วยว่า คาดว่าในอนาคต ในระยะเวลา 3-5 ปี จะขยายโครงการการบำบัดน้ำมาใช้ซ้ำ หากต้องการให้ครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัย ต้องสร้างให้ผู้ปฏิบัติ หรือหน่วยงานภายใน ตระหนักร่วมกัน และจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอในการที่จะวางท่อน้ำใช้ซ้ำส่วนกลางไปยังคณะ หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานต่อท่อสายย่อย นำน้ำใช้ซ้ำ สำหรับพื้นที่สาธารณประโยชน์ เช่น สวนหย่อมหน้าคณะ แทนการใช้น้ำดิบ หากคณะมีส่วนร่วมในเรื่องของงบประมาณ เขาก็จะมีความตระหนักมากขึ้น
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงนับเป็นองค์กรยุคใหม่ที่ตระหนักถึงภาวะลดถอยของพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆองค์กรให้ความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ฉะนั้นการหันมาใช้พลังงานพลังงานหมุนเวียน ( Renewable Energy) หรือ พลังงานสีเขียว พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการแล้ว ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยถนอมพลังงานโลกได้อย่างยั่งยืน