กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
มกอช. จับมือกับ GIZ ประเทศเยอรมนี เสริมความรู้ ด้านสุขอนามัยพืช SPS ติดอาวุธให้เจ้าหน้าที่เกษตรฯ ลดปัญหาอุปสรรค การนำเข้า-ส่งออสินค้าเกษตรของไทย
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ให้กับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการควบคุมการผลิต ส่งออก และนำเข้าสินค้าพืช ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 130 คน ในหัวข้อเรื่อง " รู้เรื่องนำเข้า และส่งออกสินค้าพืชอย่างเข้าใจ นำไปใช้ได้อย่าง รู้จริง " เพื่อนำไปใช้ในการให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ทั้งในส่วนของผู้ผลิต ผู้นำเข้า และ ผู้ส่งออก รวมถึงนำไปใช้ประกอบการเจรจาเปิดตลาดสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้า ซึ่งมีนางพจมาน วงษ์สง่า Senior Regional Manager ASEAN Sustainable Agrifood Systems (ASEAN SAS) ผู้แทน GIZ ร่วมสัมมนาด้วย โดยมีนายวิทวัสก์ สาระศาลิน ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ให้การต้อนรับ ณ ห้องทิวลิป โรงแรม รามา การ์เด้นส์
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทาง กฎระเบียบ และมาตรการ การนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล ตามมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช SPS ซึ่งเป็นมาตรการที่มีรายละเอียดด้านเทคนิคสูง และต้องใช้พื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาก จึงมีความจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจ แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
มกอช. จึงได้หารือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (Deutsche Gesellschaft fuer Internationale Zusammenarbeit;GIZ) ถึงการจัดสัมมนาครั้งนี้ ซึ่ง GIZ เป็นองค์กรที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN (FTAG) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการค้าสินค้าพืชระหว่างประเทศไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี การสัมมนาครั้งนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อให้ความรู้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ มาตรการ และขั้นตอนการนำเข้าสินค้าพืชของไทย ตลอดจนหลักเกณฑ์และขั้นตอนการเปิดตลาดส่งออกสินค้าพืชไปยังต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช วิธีการกำจัดศัตรูพืช การออกใบรับรองสุขอนามัยพืช เป็นต้น อันเป็นแนวทางในการควบคุมการผลิต ส่งออก และนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยต่อไป
เลขาธิการกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันองค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดให้มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เป็นแนวทางให้ทุกประเทศ ต้องกำหนดและปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยพืช เพื่อคุ้มครองชีวิตพืช สัตว์ และมนุษย์ ให้ปลอดภัยจากโรคระบาดและภัยคุกคามจากต่างถิ่น เนื่องจากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างถิ่น โดยเฉพาะสินค้าผักละผลไม้ล้วนมีความเสี่ยงต่อการนำแมลงศัตรูพืช และโรคพืชเข้ามาแพร่กระจายภายในประเทศ ซึ่งทำให้หลายประเทศต้องประสบกับปัญหาภัยคุกคามจากศัตรูพืชต่างถิ่น ทำความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรและระบบนิเวศโดยรวม ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างจึงส่งผลให้สินค้าผักและผลไม้ จึงเป็นสินค้าที่มีหลักเกณฑ์ในการนำเข้าและส่งออกที่เข้มงวด
นอกจากนี้ ด้านนางพจมาน วงษ์สง่า Senior Regional Manager ASEAN Sustainable Agrifood Systems (ASEAN SAS) ผู้แทน GIZ กล่าวว่า องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ดำเนินงานในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รวมทั้งภาครัฐและเอกชน และองค์กรนานาชาติ GIZ ดำเนินการอยู่ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมทั้งด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆรวมทั้งเกษตรกร
สำหรับประเทศไทย GIZ เป็นภาคีร่วมในการดำเนินโครงการ"อำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (Facilitating Trade for Agriculture Goods in ASEAN)" หรือ FTAG ซึ่งได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรีและเพิ่มการค้าขายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ในการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรจำพวกผักและผลไม้สด ซึ่งจะเน้นสินค้าที่ทำการค้าระหว่าง ประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ซึ่งได้แก่ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ แก้วมังกร กล้วย และพริก เน้นถึงความปลอดภัยของอาหารและสุขอนามัยพืชเป็นหลัก (PS and Food safety) ในการนี้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ผ่านโครงการ FTAG ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช) หวังว่าการสัมมนาครั้งนี้ ได้รับความรู้จากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการนำเข้าส่งออกพืช และเป็นเวทีแลกเปลี่ยน ระดมความคิดแนวทางการแก้ไขเพื่อเป็นการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศเซียน นางพจมาน กล่าว...