กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--คณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
น.ส. พิทยารัตน์ ชูพล (บีม) และนาย พชร สุขสุมิตร (วิน) นักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คือสองผู้เข้าประกวดที่ได้รับการคัดเลือกให้ครองตำแหน่ง ดาวและเดือน คณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประจำปี 2561
ท่ามกลางกระแสการประกวดดาวเดือนที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ว่า ควรมีต่อหรือยกเลิก บีมและวิน ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ ดังนี้
คิดเห็นอย่างไรกับกระแสการประกวดดาวเดือน
บีม: การประกวดดาวเดือนเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถค่ะ หลายคนมองว่าเป็นการแข่งขันหน้าตา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยค่ะ อย่างบีมก็ไม่ได้เป็นคนสวยที่สุดในคณะ บีมต้องฝึกอะไรหลายๆอย่าง ทั้งเรียนเดินแบบ ทั้งที่ตอนแรก เดินไม่ได้เลย ก็ฝึกซ้อมจนทำได้ ต้องใช้ความพยายาม ความอดทนมากๆ ถึงจะทำให้สำเร็จได้ บีมจึงคิดว่าควรมีการจัดการประกวดดาวเดือนต่อไปค่ะ เพราะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาตนเองค่ะ ทั้งได้ฝึกความอดทน ความพยายาม การแบ่งเวลา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และการทำงานในอนาคตต่อไปได้ค่ะ
วิน: การประกวดดาวเดือนเป็นสีสัน หรือการจัดกิจกรรมหนึ่งภายในคณะ และเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มาพัฒนาบุคลิกภาพตนเอง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาทั้งหมดในคณะครับ อย่างตัววินเอง ก็ได้มาเริ่มปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพตนเองให้ดีขึ้นครับ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีที่วินอยากให้มีการจัดประกวดต่อไปครับ
คิดอย่างไรกับการที่คนมองว่าคนที่มีบุคลิกดีมักจะได้รับโอกาสดีๆ
บีม: บุคลิกดีก็เป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองค่ะ คำว่า "บุคลิกดี" ไม่ได้หมายถึง การมีหน้าตาหรือหุ่นดี แต่รวมไปถึงการยืน การนั่ง การวางตัว และการมีทัศนคติที่ดีด้วย ถ้ามีแต่หน้าตา และหุ่นที่ดูดี แต่ไม่รู้จักการวางตัวให้เหมาะสม ถึงจะมีโอกาสดีๆ เข้ามา โอกาสเหล่านี้ก็จะค่อยๆหายไปในท้ายที่สุดค่ะ
วิน: เรื่องหน้าตาก็อาจจะมีผลบางส่วนครับ แต่สำหรับวินแล้ว ดาวเดือนไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาดีอย่างเดียว แต่ก็ต้องมีความคิดที่ดี ทัศนคติที่ดีอีกด้วย ไม่จำเป็นต้องหน้าตาดีก็มีโอกาสที่จะได้รับตำแหน่งครับ
การจัดประกวดเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนิสิต นักศึกษา อย่างแท้จริง
บีม: การจัดประกวดดาวเดือนช่วยพัฒนาศักยภาพผู้เข้าประกวดได้หลายด้านเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การยืนให้ดูสง่ามากขึ้น การพัฒนาไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นบนเวที และยังพัฒนาด้านมนุษยสัมพันธ์ด้วยค่ะ เพราะการประกวดเป็นเหมือนงานหนึ่งที่ทุกคนต้องทำงานร่วมกันทุกคนจึงต้องคุยกัน ช่วยเหลือกันให้งานออกมาดีที่สุด สุดท้ายแล้วผู้เข้าประกวดจะได้รับการพัฒนาศักยภาพในตัวเองมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้เข้าประกวดดาวเดือนแต่ละคนด้วยค่ะ
วิน: การประกวดดาวเดือนช่วยในการพัฒนาบุคลิกภาพได้จริง อย่างตัววินเอง ตอนแรกก็เดินหลังค่อม อยู่นิ่งไม่เป็น ยืนไม่สง่า พูดไม่ชัด แต่พอได้มาฝึกฝนพัฒนาตัวเองก็สามารถแก้ไขตรงนี้ให้ดีขึ้นได้ครับ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจและความพยายามที่จะพัฒนาตนเองด้วยครับ
การจัดประกวดดาว เดือน มีนัยของคำแฝงอยู่แล้วถึงความเด่นกว่า ไม่ควรนำคุณค่าหนึ่งสูงกว่าคุณค่าอื่นๆ
บีม: แต่ละคนมีความเด่น มีความสามารถพิเศษแตกต่างกัน การประกวดดาวเดือนก็เป็นเวทีการประกวดความสามารถอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับการแข่งขันร้องเพลง การประกวดเต้น การประกวดตอบปัญหาทางวิชาการ ซึ่งทุกคนก็มีความสามารถที่แตกต่างกันค่ะ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้ทุกอย่างที่กล่าวมา อย่างบีมจะให้ไปประกวดเต้น ก็ทำไม่ได้เหมือนกันค่ะ บีมเชื่อว่าทุกคนมีความเด่นของตัวเอง แต่แค่เด่นกันคนละอย่างแค่นั้นเองค่ะ ไม่ได้ความว่า ดาวเดือนจะเด่นกว่าคนอื่นค่ะ
วิน: แต่ละคนนั้นมีความสามารถที่แตกต่างกันครับ บางคนก็เรียนเก่ง มีความสามารถด้านกีฬา เล่นดนตรีเก่ง พวกเขาเหล่านั้นก็มีการประกวดความถนัดด้านต่างๆของเขาเหมือนกัน
สิ่งที่ได้จากการประกวดดาวเดือน
บีม: การประกวดดาวเดือนมีข้อดีเยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้พัฒนาบุคลิกภาพ การฝึกไหวพริบ การรู้จักจัดสรรเวลาทั้งด้านการเรียนและเวลาในการฝึกซ้อม และที่สำคัญคือได้มิตรภาพค่ะ การได้รู้จักสนิทกับเพื่อนๆพี่ๆ ทำให้บีมอยากไปซ้อมทุกวัน มีความสุขทุกครั้งเวลาที่ได้เจอกับเพื่อนๆ การประกวดดาวเดือนถือเป็นประสบการณ์ที่สอนอะไรให้บีมหลายๆอย่าง เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ในชีวิตเลยค่ะ
วิน: ช่วยในการพัฒนาตนเอง ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก ทัศนคติที่ดี จากตัววินเองที่เริ่มจากศูนย์ก็ค่อยพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆและยังได้มิตรภาพที่ดีจากคนรอบข้าง ผู้เข้าประกวดด้วยกันเองอีกด้วยครับ ถ้าเราพยายามตั้งใจกับมัน ผลลัพธ์ที่ได้มันก็จะออกมาดีครับ ก็ถือว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีอีกหนึ่งประสบการณ์ในชีวิตที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ครับ
เกี่ยวกับคณะศิลปศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นหน่วยงานใหม่ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2559 ตามประกาศสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ฉบับที่ 9) 2559 แต่เดิมคือภาควิชาภาษาและสังคมในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2520 นับเวลารวมกว่า 39 ปี ในการให้บริการการเรียนการสอนด้านภาษาและสังคมและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพให้แก่หน่วยงานต่างๆ โดยมีความมุ่งมั่นเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางภาษาของประเทศไทย
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โทร 0-2329-8445 หรือติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/liberalartskmitl/ หรือเยี่ยมชมวิดีทัศน์แนะนำคณะศิลปศาสตร์ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=rfj4buMvyy0