สร้างกฎต้านภัย ห่างไกล ‘โรคอ้วน’ ความร่วมมือดีๆ ที่โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต

ข่าวทั่วไป Tuesday January 8, 2008 15:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--มสช.
ช่วงเวลากว่าครึ่งของเด็กในวัยเรียนอยู่ที่โรงเรียน ก็เป็นธรรมดาที่โรงเรียนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้จะต้องมีส่วนรับรู้สิ่งที่เด็กเป็น ปรับเปลี่ยนสิ่งที่ไม่เหมาะสม และเพิ่มพูนพื้นฐานที่ดีงามให้กับผู้ใหญ่ที่ยังตัวเล็กในวันนี้ นอกเหนือจากการเรียนการสอน สุขภาพกายที่ดีและแข็งแรงจึงเป็นงานควบคู่กันที่โรงเรียนต้องเข้าไปผลักดันให้เกิดขึ้น ก็ใครบอกล่ะ ว่าโรงเรียนมีเพื่อสอนตำราอย่างเดียว
โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและต้องพบเจอกับสภาพแวดล้อมที่ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เด็กมีสุขภาพกายที่ไม่แข็งแรง สิ่งแวดล้อมรอบๆ โรงเรียนที่มีแต่ ‘ขนมถุง’ และ ‘น้ำอัดลม’ โฆษณาในทีวีที่เย้ายวนการบริโภค กลายเป็นตัวการหลักที่ทำให้โรงเรียนต้องรับมือกับปัญหาภาวะเด็กมีโภชนาการเกิน หรือ ‘เด็กอ้วน’ อย่างจริงจัง
ที่ผ่านมา โรงเรียนนี้ทำโครงการเพิ่มพูนอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือ ‘เด็กผอม’ มาแล้ว แต่แล้วในระหว่างปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ ครูในส่วนงานอนามัยของโรงเรียนสำรวจร่างกายของนักเรียนอีกครั้ง กลับพบว่ามีเด็กหลายคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานและเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข
ใครบอกว่า ‘อ้วน’ แล้วดี ใครบอกว่า ‘เด็กอ้วน’ นั้นน่ารัก ก็อาจจะจริง แต่นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อโรคภัย โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่กำลังเป็นภัยเงียบคุกคามมาถึงเด็ก โชคร้ายที่เด็กอ้วนนั้น หากไม่ทำอะไร จะติดนิสัยการบริโภคที่ผิดหรือไม่เหมาะสม และอ้วนอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการหอบหิ้วโรคภัยไปตลอดวัยจนเป็นผู้ใหญ่อันยาวนานด้วย แต่โชคดีที่เด็กนั้นเป็นวัยที่ ‘ดัด’ได้ง่าย
การเปลี่ยนแปลงบางอย่างต้องทำด้วยวิธีการแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นงานหนักที่โรงเรียนเลือกนำมาใช้ อ.โนรี คาหะปะนะ หัวหน้าครูอนามัยของโรงเรียน เล่าภาพก่อนทำโครงการว่า “ปี ๔๗-๔๘ โรงเรียนเรามีร้านค้าในโรงอาหารที่ขายน้ำหวานเป็นสิบร้าน เมื่อลองมาทบทวนดูก็รู้ว่า น้ำตาลในน้ำหวานเป็นสาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก ทางโรงเรียนเลยสั่งงดขายน้ำหวาน และส่งเสริมให้ขายน้ำเปล่าแทน”
โครงการเฝ้าระวังแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการเกินในโรงเรียนแบบองค์รวม จึงเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงโอดครวญของเด็กๆ ที่ติดน้ำหวานแทบทั้งโรงเรียน ซึ่งหากสังเกตพฤติกรรมโดยปกติแล้ว เด็กๆ จะชอบดื่มน้ำหวานหลังรับประทานอาหาร ถ้าไม่อิ่มก็จะเพิ่มน้ำหวาน แต่ไม่มีใครดื่มน้ำเปล่าเป็นกิจวัตรเลย
แล้วปัจจุบัน เด็กโรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต ‘ติดน้ำเปล่า’ ได้อย่างไร?
หลังจากงดการขายน้ำหวานแล้ว ขั้นตอนต่อมาของการทำโครงการคือ ขายน้ำเปล่าเพื่อให้เด็กซื้อแทน แรกๆ เด็กไม่ค่อยคุ้นชินนัก แต่เมื่อไม่มีน้ำชนิดอื่นเลย จึงจำเป็นต้องซื้อ แต่ทางโรงเรียนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับค่าใช้จ่ายจากการซื้อน้ำเปล่าเป็นขวดที่เพิ่มมากขึ้น การหนุนเสริมในระดับต่อมาคือ “ให้บริการน้ำเปล่าฟรี”
โรงเรียนต้องลงทุนติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่ถูกสุขลักษณะขึ้นในโรงเรียน และต่อท่อไปถึงทุกอาคารเรียน ถึงตอนนี้เด็กในโรงเรียนนี้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินมากมายไปกับการซื้อน้ำเปล่าจากบริษัทตัวแทนภายนอกแล้ว
‘มาตรการน้ำดื่ม’ เป็นเพียงมาตรการหนึ่งในองค์รวมทั้งหมด ‘มาตรการเกี่ยวกับอาหาร’ เป็นประเด็นหลักอีกหนึ่งที่ทั้งเด็กและครูมีส่วนส่งเสริมกันและกันเพื่อลดจำนวนเด็กอ้วน เนื่องจากกฎเหล็กข้อนี้มีผลให้พ่อค้าแม่ค้าต้องปรับวิธีการขายอย่างที่ไม่เคยทำที่ใดมาก่อน
ร้านขายของทอดในโรงเรียนถูกจำกัดให้เหลือร้านเดียวจากที่เคยมีสองร้าน ส่วนร้านอาหารทุกร้านถูกควบคุมน้ำตาลให้มี “ความหวานไม่เกิน ๕%” ในเบื้องต้นครูต้องอาศัยความพยายามในการเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับร้านค้าทุกร้านอย่างต่อเนื่อง ชี้แจงให้เห็นข้อดีทุกด้าน ส่วนเด็กนักเรียนก็ช่วยตรวจตราปริมาณการใช้น้ำตาลของร้านค้าทุกเดือนว่าลดลงหรือไม่
ข้อดีหลักที่ร้านค้าในโรงเรียนเห็นชอบและอยากขายของอยู่ต่อไปคือ การลดน้ำตาลทำให้ต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบลดลง แม้ระยะแรกๆ พ่อค้าแม่ค้าจะรู้สึกสงสารเด็กที่ต้องทึานอาหารรสจืดเกินไป แต่ก็ต้องทำเพื่อให้ทำมาหากินอยู่ในโรงเรียนได้ แต่เมื่อโครงการทำต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จึงมีข้อพิสูจน์แล้วว่า “ความหวานน้อยที่ปรุงรสในอาหารก็ติดปากเด็กไม่น้อย”
กลวิธีที่แยบยลอีกอย่างหนึ่งอยู่ที่ร้านขายผลไม้ ซึ่ง อ.โนรี แนะนำร้านค้าว่า ให้ลดน้ำจิ้มที่ผสมพริกเกลือและน้ำตาลลง จากที่เคยให้โหลใส่ขนาดใหญ่ ก็ให้เหลือโหลที่มีขนาดเล็กลง เมื่อเด็กคนหลังๆ มาซื้อผลไม้และเห็นว่าน้ำจิ้มหมด เด็กก็จำต้องกินผลไม้เปล่าๆ เมื่อเด็กคนหนึ่งได้ลองกินครั้งแรก ครั้งต่อไปก็สามารถกินได้เรื่อยๆ และจากเด็กเพียงหนึ่งคนก็เพิ่มปริมาณเด็กไม่กินหวานได้อีกตามจำนวนน้ำจิ้มที่ลดลง
แรกๆ ร้านขายผลไม้สองร้านในโรงเรียนแทบจะถอดใจไม่ขายของในโรงเรียนต่อ เพราะไม่รู้ว่าจะสร้างแรงจูงใจให้เด็กซื้อได้อย่างไร แต่ด้วยกำลังใจที่ทางโรงเรียนและครูทุกฝ่ายมีให้ จึงสร้างแรงสู้ให้ร้านค้าทดลองขายผลไม้ต่อไป จากการทดลองในตอนต้นก็กลายมาเป็นการทำอย่างถาวรในปัจจุบัน
‘มาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน’ เป็นอีกหนึ่งมาตรการหลักที่โรงเรียนคอยสอดส่องดูแล โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความเป็นเด็ก ขนมขบเคี้ยวและลูกอมย่อมเป็นของคู่กันอย่างแยกไม่ออก โรงเรียนจึงใช้ข้อห้ามเด็ดขาด ไม่ให้มีทั้งขนมถุงประเภทกรุบกรอบทุกชนิด ขนมที่เป็นครีมเหนียวติดฟัน รวมทั้ง ไอศกรีม เยลลี่และของดอง ก็ถูกงดขายและงดนำเข้ามาโรงเรียน
การงดเว้นอาหารทุกประเภทที่จะเป็นตัวทำลายสุขภาพ ทำให้เด็กหลายคนสามารถปรับพฤติกรรมการกินให้ถูกต้องได้ บางคนที่ชอบแอบทานขนมกรุบกรอบยามว่างก็เลิกไป
ด.ญ.พิชามญชุ์ พึ่งผล นักเรียนชั้น ป.๕ เล่าอย่างไม่อายว่า “เมื่อก่อน เวลาส่วนใหญ่ถ้าว่างก็จะคิดว่าวันนี้จะกินอะไร หรือจะกินอะไรที่อร่อยๆ ดี แต่ตอนนี้ไม่สนใจอยากกินขนมพร่ำเพรื่อแล้ว อีกอย่าง ทางโรงเรียนก็มีกิจกรรมเสริม เป็นเรื่องของการออกกำลังกายให้เด็กนักเรียนมุ่งความสนใจไปที่การดูแลสุขภาพร่างกาย”
การออกกำลังกายที่ ด.ญ.พิชามญชุ์ พูดถึง เป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนและทุกฝ่ายในโรงเรียนทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทุกวันทั้งตอนเช้าและตอนเย็น และโดยเฉพาะเด็กที่อ้วนก็จะถูกคัดออกมาเพื่อเพิ่มเวลาการออกกำลังกายให้มากขึ้นกว่าเด็กปกติ ซึ่งตอนนี้เด็กๆ รู้สึกสนุกสนานร่วมกันทั้งโรงเรียน
สังเกตได้จากการที่เด็กที่มีร่างกายผอมและน้ำหนักปกติก็จะมาร่วมออกกำลังกายด้วยเสมอ เป็นภาพเด็กนักเรียนต่างวัยใส่ใจออกกำลังกาย และกลายเป็นเพื่อนต่างวัยที่มีความสนใจไม่ต่างกันด้วย
นางศิริพร ชาญสาริกรณ์ ผู้ปกครองเด็กนักเรียน บอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า “ในขณะที่เรารอลูกเรียนตอนเย็น เราก็เตรียมตัวมาออกกำลังกายด้วย เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การจัดกิจกรรมอย่างนี้ในโรงเรียนทำให้เรารู้ว่าจริงๆ เวลาเรามีอยู่มาก และมีพอที่จะทำอะไรๆ ได้มาก”
ครอบครัวชาญสาริกรณ์ จึงเป็นครอบครัวตัวอย่างครอบครัวหนึ่งที่มีความตั้งใจจะลดความอ้วนทั้งบ้าน เพราะเห็นแล้วว่าที่ผ่านมา ความอ้วนทำให้อึดอัด แต่เมื่อได้ออกกำลังกายความคล่องตัวมีสูงมากขึ้น ร่างกายกระชับมากขึ้น ส่วนเด็กๆ ก็รู้สึกว่าร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ไม่เกิดอาการหลับๆ ตื่นๆ อย่างที่เคยเป็นมา
ตามสถิติปีนี้ จำนวนเด็กอ้วนในโรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ตมีทั้งหมด ๑๓๐ คน จากจำนวนเด็กนักเรียน ๒,๐๐๙ คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่สูงมากนัก และอยู่ในจำนวนที่สามารถควบคุมให้เกิดการทำกิจกรรมพร้อมๆ กันได้ง่าย
อ.โนรี เสริมว่า “ที่โรงเรียนของเรา หลักใหญ่คือทำอย่างไรให้เด็กที่เริ่มท้วมไม่กลายเป็นเด็กอ้วน ให้เด็กที่สมส่วนไม่กลายเป็นเด็กท้วมหรืออ้วน แต่ในส่วนของเด็กอ้วนนั้น เราทำได้เพียงบางส่วน คือ ผู้ปกครองต้องร่วมด้วย”
สภาพแวดล้อมในปัจจุบันยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขยาก เพราะรอบข้างโรงเรียนยังมีร้านค้าที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวันๆ จนเลยพ้นจากการควบคุมของโรงเรียน สิ่งที่ทำได้คือความร่วมมืออีกทางหนึ่งจากผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องไม่สนับสนุนให้ลูกหลานของตัวเองหลงใหลกับ ‘อาหารขยะ’ ที่เกลื่อนเมือง และจะต้องส่งเสริมให้มี ‘กฎเหล็กในบ้าน’ โดยเฉพาะมื้อเย็นที่ต้องงดอาหารเสี่ยง และวันหยุดที่ต้องทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพร่วมกันทั้งครอบครัว
หากว่านำกฎเหล็กในโรงเรียนมาเป็นกฎบ้านได้ และทำอย่างเป็นประจำโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการลงมือทำ ผลสำเร็จย่อมเกิดขึ้นเป็นราคาที่ตีค่าวัดจำนวนไม่ได้ เพราะ ‘สุขภาพดี’ คือปลายทางที่จะทำให้เกิดเรี่ยวแรงในการทำสิ่งต่างๆ ตามมา
โครงการดีๆ ที่โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต จึงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่สร้างสรรค์ให้มี “เด็กสุขภาพดี” ที่มีเรี่ยวแรงในการลงมือทำเพิ่มขึ้นอีกหลายคน.-

แท็ก โรคอ้วน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ