กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ ๘/๒๕๖๑ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณร่างแนวทางการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาอาหารไทย พ.ศ.๒๕๖๓ – ๒๕๖๗ ซึ่งร่างแนวทางดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในระดับนานาชาติ ซึ่งในปัจจุบันอาหารไทยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย กำลังได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของอาหารต่างชาติที่คนในปัจจุบันให้ความนิยมบริโภค โดยเฉพาะอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปต่างๆ ทำให้อาหารไทยแท้ๆ กลายเป็นอาหารลูกผสม หรืออาหารฟิวชั่น ส่งผลให้ส่วนผสมและรสชาติเกิดการผิดเพี้ยนไป ความเป็นเอกลักษณ์ที่แท้จริงของอาหารไทยค่อยๆ เลือนหายไป ดังนั้น การจัดทำแผนแม่บทฯ เพื่อส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาอาหารไทยให้ยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. ๒๐๐๓ ขององค์การยูเนสโก และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ด้านวัฒนธรรมของประเทศ และเพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดการบูรณาการร่วมกันในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาอาหารไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กลับไปปรับปรุงรายละเอียดของร่างดังกล่าวตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ
นายวีระ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์แนวทางการคัดเลือกแผนงานโครงการหรือกิจกรรมในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ โดยให้ยึดหลักมรดกภูมิปัญญาฯ ที่มีความโดดเด่นสามารถต่อยอด สร้างรายได้ หรือมรดกภูมิปัญญาฯ ที่อยู่ในสถานการณ์อันตราย เสี่ยงต่อการสูญหายควรได้รับการส่งเสริมรักษาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาอาหารไทย พ.ศ. ๒๕๖๓–๒๕๖๗ เพื่อเสนอนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาอาหารไทย ให้มีความสมบูรณ์ สามารถนำไปใช้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและไปสู่การปฏิบัติ สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย.ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ แนวทางการคัดเลือกแผนงาน โครงการหรือกิจกรรมในการส่งเสริมและรักษา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชี โดยที่ชุมชน กลุ่มคน องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางทุกขั้นตอนและทุกด้านของการส่งเสริมและรักษา อันจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาฯ ของตนเพื่อให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาแผนงาน โครงการหรือกิจกรรม ที่จะได้รับการสนับสนุน ประกอบด้วย มีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น อนุรักษ์หรือรักษา ส่งเสริม พัฒนาต่อยอด หรือเพื่อฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาที่เสี่ยงต่อการสูญหายให้คงอยู่ ซึ่งต้องมีการกำหนดแผนดำเนินการ งบประมาณ และระยะเวลาที่ชัดเจน