กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--เอสซีจี
เพราะโลกหมุนเร็วกว่าที่คิด องคาพยพธุรกิจจึงต้องตั้งรับ-ปรับตัวให้ทันคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เช่นเดียวกับเอสซีจีที่เล็งเห็นความสำคัญของการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้มาร่วมพัฒนานวัตกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ในกิจกรรมสุดท้าทายอย่างการแข่งขัน "Hackathon" ภายใต้แนวคิด "Passion for Open Innovation" ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 900,000 บาท พร้อมโอกาสต่อยอดไอเดียร่วมกับเอสซีจี
จากการแข่งขันด้านไอที สู่การประชันไอเดียธุรกิจที่สร้างสรรค์
กิจกรรม "Hackathon" มาจากการรวมคำว่า Hack กับ Marathon โดยมีจุดเริ่มต้นจากคนแวดวงไอทีที่รวมตัวกันเพื่อ Hack หรือเขียนโปรแกรมอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลาที่กำหนดเหมือนการแข่งขันมาราธอน แต่ปัจจุบันHackathon ได้รับการยกระดับไปเป็นการแข่งขันเชิงธุรกิจมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมอะไรก็ได้ภายใต้โจทย์ที่กำหนด ทำให้งานนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกทั้งฝั่งของผู้จัดการแข่งขันและผู้เข้าแข่งขัน
โจทย์สุดท้าทายจากเอสซีจี เพื่อตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการเปิดรับความร่วมมือ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ลูกค้าทั้งกลุ่มธรกิจและผู้บริโภคอย่างเอสซีจี จึงตั้งใจที่จะจัดการแข่งขัน "Hackathon" ครั้งแรกนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนหลากหลายอาชีพแบบไม่จำกัดอายุ ทั้ง Business planner หรือผู้มีใจรักในการเขียนแผนธุรกิจหรือคิดกลยุทธ์การตลาด รวมถึงUser experience และ User Interface (UX/UI) Designer หรือผู้มีใจรักในการออกแบบสินค้าและบริการให้เป็นมิตรกับผู้ใช้งานและตรงตามความต้องการของลูกค้า ตลอดจน Developer หรือผู้มีใจรักในการเขียนโค้ดและสร้างแอปพลิเคชัน ได้มาร่วมกันระดมสมอง พัฒนาไอเดียภายใต้โจทย์สามหัวข้อ คือ
1.) การนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างการเติบโตให้เอสซีจีและคู่ธุรกิจ ด้วยธุรกิจ B2B รูปแบบใหม่ๆ(Growing business with our partners through technology)
2.) การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและพัฒนาความยั่งยืนในอุตสาหกรรม (Developing industrial sustainability)
3.) การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้บริโภค (Revolutionizing living)
เปิดบ้านปลุก Passion เตรียมพร้อมก่อนวันแข่งขันจริง
หลังปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ครบ 100 คน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลทั่วไปที่สนใจ รวมทั้งบุคลากรของเอสซีจีด้วย เอสซีจีจึงเปิดบ้าน ณ สำนักงานใหญ่ บางซื่อ จัดกิจกรรม "Open House" เพื่อแนะนำโจทย์ ตลอดจนความต้องการและโอกาสของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ให้ผู้เข้าแข่งขันได้เห็นภาพที่ชัดเจน และพร้อมสำหรับการแข่งขันในอีกสัปดาห์ถัดจากนั้น
คุณยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ - การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า แม้เอสซีจีจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอายุมากว่า 105 ปี แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการคิดค้นและพัฒนาองค์กรมาอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่ง จึงอยากจัดงาน Hackathon ครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและสร้างความร่วมมือแบบเปิดกว้างกับบุคคลภายนอกในการพัฒนาก้าวต่อไปของเอสซีจีร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ นั่นก็คือ "Passion for Open Innovation"
งานวัน Open House ยังได้รับเกียรติจาก คุณสุรวัฒน์ พรหมโยธิน CEO จาก Stylhunt และ Executive Director จาก Bangkok Venture Club ผู้ผลักดันผู้ประกอบการหน้าใหม่ในวงการสตาร์ทอัพไทย มาร่วมจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีของ Lean Startup ซึ่งว่าด้วยการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพที่มุ่งแก้ปัญหา (pain point) ให้ผู้คน ที่ยิ่งแก้ปัญหาได้เยอะเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น
คุณสุรวัฒน์ ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวงจรการสร้าง วัดผล และเรียนรู้ (build, measure, learn) ที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้มากครั้งและรวดเร็ว เพื่อปรับปรุงผลงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้ใช้ งานวันนี้จึงถือเป็นการอุ่นเครื่องผู้เข้าร่วมงานให้พร้อมกับการแข่งขันจริงได้เป็นอย่างดี ถึงเวลาลงมือสร้างทีม-บ่มเพาะไอเดีย-รับการเจียระไนโดยเมนทอร์มากประสบการณ์ไม่กี่อึดใจ การแข่งขันจริงก็มาถึงในเย็นวันศุกร์ที่ 26 ต.ค. 61 เมื่อผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนเสร็จสิ้นภารกิจของตน ก็ได้มาเข้าร่วมกิจกรรม Hackathon นี้กันต่อ ณ Big Co-Working Space ย่านพระราม 9 ที่เอสซีจีและทีมผู้จัดงานอย่างHubba เตรียมพร้อมการดูแลทั้งอาหาร สถานที่ กิจกรรม และองค์ความรู้ที่เอื้อต่อการปลุกเซลล์สมองให้ทุกคนไว้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ในคืนแรกของการแข่งขัน เราได้กว่า 25 ไอเดียที่เข้าตากรรมการจากการนำเสนอของผู้เข้าแข่งขัน จากนั้นผู้แข่งขันคนอื่นๆ ก็ได้เลือกจับกลุ่มกับเจ้าของไอเดียที่มี Passion เดียวกัน เพื่อร่วมปั้นไอเดียเหล่านั้นให้เป็นรูปเป็นร่างภายใน 2 วันต่อจากนั้น นั่นก็คือวันเสาร์ที่ 27 และอาทิตย์ที่ 28 ต.ค. 61
ตลอด 3 วัน 2 คืน ผู้เข้าแข่งขันแต่ละกลุ่มต่างได้อภิปราย วางแผน และลงมือสร้างต้นแบบนวัตกรรมสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เพื่อมุ่งตอบโจทย์ของงานกันอย่างขะมักเขม้น ควบคู่ไปกับการรับคำปรึกษาและเข้าร่วมเวิร์คช็อปกับเมนทอร์(Mentor) ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่งานนี้ได้รวมผู้ก่อตั้งและ CEO ในวงการธุรกิจและสตาร์ทอัพชื่อดังมาอย่างคับคั่ง อาทิBuilk, QueQ, GetLinks, Grab, Priceza และอื่นๆ รวม 12 บริษัท ตลอดจนมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นพนักงานมากความสามารถของเอสซีจี คอยให้ข้อมูลต่างๆ อยู่อย่างใกล้ชิดด้วย
3 นาทีเปลี่ยนชีวิต ร่วม Pitching ชิงเก้าอี้ 9 ทีมสุดท้าย
กระทั่งวันอาทิตย์ที่ 28 ต.ค. 61 มาถึง ทั้ง 25 ทีมจะต้องเสนอขายไอเดียรอบก่อนชิงชนะเลิศหรือ Semi-Final Pitching ให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเอสซีจีและผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจและสตาร์ทอัพ ได้เข้าใจนวัตกรรมสินค้าหรือบริการที่แต่ละทีมคิดค้นมาภายใน 3 นาที เพื่อเป็นหนึ่งใน 3 ทีมของทั้ง 3 โจทย์ที่ได้เข้ารอบ Final pitching 9 ทีมสุดท้าย ไปชิงรางวัลมูลค่ารวมตลอดการแข่งขันกว่า 900,000 บาท
สุดยอดไอเดียเปี่ยม Passion มุ่งมั่นฝ่าฟันความท้าทาย
จากการเคี่ยวกรำอย่างเข้มข้นตลอด 3 วัน ในที่สุดก็ได้ผู้ชนะจากทั้ง 3 โจทย์ รับเงินรางวัลทีมละ 200,000 บาท พร้อมโอกาสร่วมงานหรือต่อยอดธุรกิจกับเอสซีจีต่อไป โดย
โจทย์ที่ 1 - การนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างการเติบโตให้เอสซีจีและคู่ธุรกิจ ด้วยธุรกิจ B2B รูปแบบใหม่ๆผู้ชนะได้แก่ "ทีม GET SURE" ผู้เห็นปัญหาของการใช้เครื่องจักรในการดำเนินธุรกิจที่ยังไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก จึงคิดค้นแพลตฟอร์มจับคู่เครื่องจักรและงานรับเหมาก่อสร้าง เพื่อสร้างโอกาสให้เจ้าของเครื่องจักรรับงานได้มากขึ้น ควบคุมต้นทุนได้ และมีกำไรมากกว่าเดิม
โจทย์ที่ 2 - การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและพัฒนาความยั่งยืนในอุตสาหกรรม รางวัลชนะเลิศตกเป็นของ "ทีม SCG CARE" ที่คิดค้นแพลตฟอร์มเชื่อมคนที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้ชุมชนของตน ได้มาระดมทุนต่อยอดไอเดียกันบนแพลตฟอร์มนี้ โดยเปิดโอกาสให้องค์กรที่มีงบประมาณ CSR เลือกสนับสนุนโครงการในแพลตฟอร์ม พร้อมชี้วัดผลความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณให้อีกด้วย
โจทย์ที่ 3 - การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้บริโภค ผู้ชนะได้แก่ "ทีม Oldster" ซึ่งคิดค้นแพลตฟอร์มศูนย์รวมกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ตอบโจทย์ยุคที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพราะทีมนี้มองว่ายังมีผู้สูงอายุอีกมากที่ยังมีไฟในการทำกิจกรรมที่แปลกใหม่และก้าวทันเทคโนโลยี แพลตฟอร์มนี้จึงอยากเป็นตัวกลางให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาสร้างและดำเนินกิจกรรมที่นี่ได้
ไม่เพียงเท่านั้น เอสซีจียังมีรางวัลที่แต่ละกลุ่มธุรกิจ พิจารณามอบให้ทีมที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจได้ดีที่สุดอีกรางวัลละ 100,000 บาท ซึ่งธุรกิจเคมิคอลส์มอบให้แก่ "ทีม LEAN" ที่คิดค้นระบบแยกขยะด้วยการใช้ machine learningส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มอบรางวัลนี้ให้ "ทีม GET SURE" ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในโจทย์ที่ 1 และธุรกิจแพคเกจจิ้ง มอบรางวัลนี้ให้ "ทีม PAYPER" ผู้คิดค้นโมเดลธุรกิจพิมพ์โฆษณาลงบนกล่องบรรจุภัณฑ์อาหาร Fest ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งการดูแลสุขภาพให้ผู้บริโภค และการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการด้วยการนำรายได้จากพื้นที่โฆษณามาทดแทนต้นทุน
เสียงสะท้อนแห่งความภาคภูมิใจ
ผู้ชนะจาก "ทีม GET SURE" ให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า กิจกรรม "Hackathon" ของเอสซีจีครั้งนี้ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พบผู้คนจากหลายสายอาชีพที่มองเห็นปัญหาเดียวกัน ได้มาทำงานร่วมกัน แม้อุปสรรคในการทำงานจะเป็นเวลาที่จำกัด และการสื่อสารที่ต้องพยายามทำให้คนที่แตกต่างกันมีความเข้าใจตรงกัน แต่เชื่อว่าถ้าทุกคนตั้งใจและไม่ย่อท้อ ท้ายที่สุดท้ายก็จะประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกับพวกเขา
ส่วน "ทีม Oldster" ชี้ว่าการแข่งขันนี้ถือเป็นโอกาสซึ่งหาได้ยากที่แต่ละคนในทีมที่มีความถนัดไม่เหมือนกัน อย่างกลุ่มนี้ที่มีทั้งเจ้าของธุรกิจ โปรแกรมเมอร์ และดีไซเนอร์ จะได้มาเจอกัน ได้แบ่งปันและร่วมกันแก้ไขปัญหาจากการมองในมุมที่ต่างกันไป
"เพื่อนๆ ที่เจอในงานนี้ ส่วนใหญ่ไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่เราต่างมาด้วยแพสชั่นที่อยากลองสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ และได้มาลงมือทำร่วมกันจริงๆ จึงเป็นประสบการณ์ที่อยากแนะนำให้คนอื่นได้ลองมาสัมผัสบ้าง" หนึ่งในสมาชิก "ทีมSCG CARE" กล่าวหลังได้รับรางวัล
นอกจากการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งตลอดหนึ่งศตวรรษ เอสซีจียังถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีส่วนในการผลักดันและสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อร่วมเติบโตไปกับผู้คนที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ลูกค้า ผ่านการจัดกิจกรรม Hackathon ครั้งนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้ไม่ได้รางวัลกลับไป แต่สิ่งสำคัญคือการได้ร่วมทำงานกับผู้คนเก่งๆ ตลอดจนได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีช่วยติดอาวุธทางปัญญาให้ได้เป็นอย่างดี