กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหามะพร้าวราคาตกต่ำ โดยในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ประสานการจัดตั้งคณะทำงานจัดทำข้อมูลด้านการเกษตรระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมสำรวจและจัดทำข้อมูล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และการจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวทั้งระบบครบวงจร
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวในด้านต่างๆ โดยนางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ในส่วนของการป้องกันการลักลอบ และนำเข้ามะพร้าวผิดกฎหมาย ได้มอบหมายให้กรมศุลกากร กำหนดระบบบริหารความเสี่ยงในการตรวจสอบสินค้า โดยให้สินค้ามะพร้าวเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงและกำหนดเป็นสินค้านำเข้าที่ต้องทำการเปิดตรวจทุกกรณี ต้องนำไปผ่านการ X-Ray และชั่งน้ำหนักทุกตู้สินค้าที่นำเข้า และเสนอให้มีการควบคุมสินค้านำเข้าเพียงท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง โดยอาศัยมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 อีกทั้งให้กรมการค้าต่างประเทศ แก้ไข/เพิ่มเติม ประกาศและบทลงโทษกรณีผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ โดยให้พักหรือเพิกถอน การขึ้นทะเบียนนำเข้าจะไม่สามารถขอหนังสือรับรองได้จากเดิม 2 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี รวมทั้ง เงื่อนไขการออกหนังสือรับรองฯ นำเข้ามะพร้าวตามกรอบความตกลง AFTA ว่าจะไม่นำมะพร้าวนำเข้าไปจำหน่าย จ่าย โอน ให้นิติบุคคล หรือบุคคลทั่วไป หรือแปรสภาพมะพร้าวโดยการกะเทาะภายนอกโรงงานของตนเอง
ด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ให้กรมวิชาการเกษตร เพิ่มความเข้มงวดและป้องกันการระบาดของโรค และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษามาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure : SSG) ภายใต้ความตกลงเกษตรของ WTO ในสินค้ามะพร้าว
นอกจากนี้ ได้กำหนดให้สินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าควบคุม มีการกำหนดมาตรการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายสินค้าดังกล่าว โดยให้นำเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาต่อไป พร้อมทั้งให้กรมการค้าภายใน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางดำเนินการตามที่ผู้แทนเกษตรกรเสนอให้มีการรับซื้อเนื้อมะพร้าวในราคานำตลาด เพื่อแก้ไขปัญหามะพร้าวงอกที่คงเหลืออยู่ในระบบ ส่วนการบริหารการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลือง มะพร้าวผล มะพร้าวฝอย เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว ปี 2562 ภายใต้กรอบ WTO AFTA และ FTA ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับปี 2561 โดยหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตามะพร้าวฝอย เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว ให้เป็นไปตามที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด ยกเว้น มะพร้าวผลภายใต้กรอบ AFTA ขอให้นำเสนอคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ แนวทางบริหารจัดการข้างต้น จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วต่อไป ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคามะพร้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น