กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 79.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 2.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 92.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Reuters Survey ระบุปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC (15 ประเทศ ) เดือน ต.ค.61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 390,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 33.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 59 นำโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 3.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน และลิเบียผลิต เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 279,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 2.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Reuters รายงานรัสเซียผลิตน้ำมันดิบ เดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 50,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ในปี พ.ศ. 2534 ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak เห็นว่าไม่มีเหตุผลที่รัสเซียจะควบคุมการผลิตต่อไปเพราะอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มขาดตลาด
- Energy Informational Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 416,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.346ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
3.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 426 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 เดือน
- อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกถูกกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังสหรัฐฯ ประกาศเตรียมตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนส่วนที่เหลือ อีก 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมเทียบเท่ามูลค่าสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดในปี พ.ศ. 2560 ที่ 505,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในต้นเดือน ธ.ค. 61
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Reuters รายงานอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบมายังเอเชีย เดือน ก.ย. 61 ลดลงจากปีก่อน 40.9 % มาอยู่ที่ 1.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 32 เดือน ทั้งนี้สหรัฐฯ ประกาศจะคว่ำบาตรภาคพลังงานอิหร่าน ในวันที่ 4 พ.ย. 61
- กระทรวงน้ำมันอิรักรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากท่าส่งออกทางใต้ในเดือน ต.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 30,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 3.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากภูมิอากาศแปรปรวน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ลดลง หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นาย Mike Pompeo ประกาศยกเว้นการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นการชั่วคราว ให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอิหร่าน 8 ราย โดยไม่ระบุรายชื่อประเทศ แต่แหล่งข่าวคาดว่าน่าจะครอบคลุมประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ประเทศดังกล่าวได้รับการผ่อนผันให้นำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านได้อีก 180 วัน อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) 28 ประเทศ ยังไม่ได้รับการยกเว้นจากมาตรการคว่ำบาตรที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 5 พ.ย. 61 นี้ ประกอบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า หลังข้อมูลตลาดแรงงานแข็งแกร่ง และนักลงทุนลดความเสี่ยงโดยหันไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย คือ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และตุรกีลดลง หลังกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของตุรกี 2 ราย ขณะที่ตุรกียกเลิกการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ 2 ราย เช่นกัน หลังสหรัฐฯ ประท้วงตั้งแต่เดือน ส.ค. 61 ที่ตุรกีคุมขังนาย Andrew Brunson เป็นเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตามตุรกียังคงเติมเชื้อประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย โดยกล่าวว่าการฆาตกรรมผู้สื่อข่าวนาย Jamal Khashoggi เป็นคำสั่งมาจาก "ระดับสูงสุด" ในรัฐบาลซาอุฯ ซึ่งควรจะเปิดหน้ากาก "ผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง" และไม่ควรเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับกลุ่มพันธมิตร NATO อีก ให้จับตามองสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว นาย Larry Kudlow แถลงว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ยังไม่มีคำสั่งให้ทางการสหรัฐฯ ถอดถอนแผนการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน และคาดว่าประธานาธิบดี Trump และประธานาธิบดีจีน นาย Xi Jinping จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ระหว่างสองประเทศในการประชุมสุดยอดผู้นำ 20 ประเทศ (G20 Summit) ในปลายเดือน พ.ย. 61 นี้ นั่นคือประธานาธิบดี Trump ยังสามารถ "ลั่นไกปืน" เพิ่มอัตราภาษีสินค้าจีนได้อีก ขึ้นอยู่กับผลการเจรจา ด้านเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.5-76.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 62.5-67.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.0-75.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียถูกกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาดหลังจีนอนุมัติโควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มเติมสำหรับปี พ.ศ. 2561 ทำให้จีนมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นเพราะจีนเหลือโควตาส่งออกน้ำมันเบนซินอีกปริมาณ 18.70 ล้านบาร์เรล สำหรับเดือน ต.ค. – ธ.ค. 61 หรือ ราว 210,000 บาร์เรลต่อวันใกล้เคียงกับปริมาณส่งออกในเดือน ก.ย. 61 ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 50,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.15 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงาน ปริมาณสำรองเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.37 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม China Petroleum and Chemical Corp. (Sinopec) ของจีนมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Fujian (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 เป็นเวลา 60 วัน และ บริษัท Emirates National Oil Co. (ENOC) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีแผนจะปิดซ่อมบำรุง Condensate Splitter (กำลังการกลั่น 140,00 บาร์เรลต่อวัน) ตลอดเดือน พ.ย. 61 ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรอง เบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ต.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 226.2 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 11 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.0-80.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากทางการจีนอนุมัติโควตาส่งออกน้ำมันดีเซล ปริมาณ 4.4 ล้านบาร์เรล เพิ่มเติมสำหรับปี พ.ศ. 2561 และ Reuters รายงาน Arbitrageดีเซลจากเอเชียไปยังภูมิภาคตะวันตกปิด ประกอบกับรัฐบาลเยอรมนีระบายน้ำมันดีเซลจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ตามหลังสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำไรน์ต่ำมากอย่างต่อเนื่องทำให้ไม่สามารถขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปสู่คลังน้ำมันผ่านเรือ Barge อนึ่ง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 850,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.51 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรอง ดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค.61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 180,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.19 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ต.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 126.3 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 88.0-93.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล