กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นผลิตสินค้าตามมาตรฐาน มอก.ปรับปรุงใหม่ เผยวิธีการเลือกเหล็กมาตรฐาน ท่ามกลางสภาวะเหล็กล้นตลาด แนะผู้บริโภคพิจารณาความปลอดภัยของโครงสร้างมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมคุณภาพของเหล็กเส้นก่อสร้างอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นค่าเคมีซึ่งมีผลต่อความสม่ำเสมอของเหล็กเส้นในการรับน้ำหนักสิ่งก่อสร้าง การระบุชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อการสอบกลับได้ของผลิตภัณฑ์ การระบุประเภทของกระบวนการผลิตเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้
นายชัยเฉลิม บุญญานุวัตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ - การตลาดและการขาย บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "บริษัทมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของเหล็กเส้นก่อสร้างอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมาตรฐานระดับโลก เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคต้องมาก่อน และเพื่อช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เกิดการเติบโตและพัฒนาตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของภาครัฐ ด้วยการลงทุนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจสอบคุณภาพที่ทันสมัย ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพโดยการควบคุมการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดแยกเศษเหล็กที่มีคุณภาพ การเก็บตัวอย่างเพื่อทดสอบค่าเคมี การตรวจสภาพเหล็กแท่ง การควบคุมขนาดและน้ำหนัก การตรวจสอบคุณสมบัติทางกลของสินค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าเหล็กเส้นก่อสร้างทุกเส้นที่ผลิต มีคุณภาพเหมาะกับการใช้งานและมีส่วนสำคัญในการทำให้โครงสร้างอาคารแข็งแรง ปลอดภัย เพราะเหล็กเส้นจะอยู่คู่กับโครงสร้างอาคารไปตลอดอายุของอาคารนั้นๆ ซึ่งส่งผลระยะยาวต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย รวมถึงเหล็กเส้นคุณภาพดีจะทำให้งานก่อสร้างเสร็จไว ไม่ต้องมีการรื้อหรือแก้งานในภายหลัง เพื่อให้ทุกโครงการก่อสร้างที่เลือกใช้เหล็กคุณภาพดีอย่างทาทา ทิสคอน มีความปลอดภัยสูงขึ้น
นอกจากนั้น ท่ามกลางภาวะเหล็กเส้นล้นตลาด ซึ่งอาจมีเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มอก. ปะปนอยู่ในตลาด ในฐานะผู้นำการผลิตและจำหน่ายเหล็กเส้นก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จึงตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกใช้เหล็กของผู้บริโภคให้ได้เหล็กเส้นก่อสร้างที่ได้คุณภาพ เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้สร้างบ้าน รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐ และภาคเอกชน โดยจุดสังเกตเหล็กที่ได้คุณภาพ ตามมาตรฐาน มอก. สามารถพิจารณาได้จาก 5 จุดสังเกต ต่อไปนี้
1. ตัวนูนบนเนื้อเหล็ก จะต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นดังต่อไปนี้บนเนื้อเหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อยทุกเส้น ได้แก่ เครื่องหมายการค้า โรงงานผู้ผลิต ประเภทของสินค้า ชั้นคุณภาพ ขนาด และที่สำคัญต้องบ่งบอกถึงกระบวนการผลิตด้วย เช่น EF ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตเหล็กของบริษัทด้วยเตาหลอมไฟฟ้าที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่และรักษาสิ่งแวดล้อม
2. ผิวเหล็ก เหล็กเส้นกลม ต้องมีผิวเรียบเกลี้ยง ไม่มีปีก ไม่มีลูกคลื่น หน้าตัดต้องกลม ไม่เบี้ยว ผิวไม่มีรอยปริแตก ในขณะที่เหล็กเส้นข้ออ้อย ต้องมีระยะห่างของบั้งเท่ากันและสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น ผิวไม่มีรอยปริแตกร้าว
3. ขนาดและน้ำหนัก เหล็กที่ดีต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและน้ำหนักถูกต้องตามที่ มอก. ระบุ
4. ดัดโค้งได้โดยไม่ปริแตก เหล็กเส้นก่อสร้างมักจะถูกนำไปดัดเพื่อให้เข้ากับรูปทรงของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเหล็กเส้นที่ดีเมื่อทำการดัดโค้งตามมาตรฐานแล้วจะต้องไม่ปริแตกและหักง่าย
5. ไม่เป็นสนิม เหล็กเส้นที่ดีต้องไม่เป็นสนิมขุม เพราะสนิมขุมจะกินเข้าไปในเนื้อเหล็ก ทำให้ความแข็งแรงของเหล็กลดลง ในขณะที่สนิมผิวสามารถเกิดบนผิวเหล็กได้ ไม่เป็นอันตรายต่อการใช้งานและกำลังรับแรงดึงของเหล็กเส้น วิธีสังเกตสนิมผิว ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษทรายขัดตรงที่เป็นสนิม ถ้าสนิมสามารถหลุดออกง่ายไม่มีรอยสนิมฝังลึกในเนื้อเหล็ก แสดงว่าเป็นสนิมผิวสามารถใช้งานได้ แต่ถ้าขัดแล้วพบสนิมฝังลึกในเนื้อเหล็กหรือสนิมขัดไม่ออก แสดงว่าเป็นสนิมขุม ไม่ควรนำมาใช้งาน
สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริโภคควรคำนึงถึง ก็คือเหล็กเส้นที่มีกระบวนการผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อการใช้งานสิ่งก่อสร้างที่ปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งนอกจากการผลิตและควบคุมคุณภาพสินค้าของบริษัทฯ ให้เป็นไปตาม มอก. ฉบับใหม่แล้ว บริษัทฯยังได้ยกระดับในเชิงคุณภาพให้เหนือกว่าขึ้นไปอีก เช่น การคิดค้นและพัฒนาเหล็กเส้นก่อสร้างให้มีความเหนียวสูง สามารถดัดโค้งได้ง่ายโดยไม่แตกร้าว การพัฒนาครีบ-บั้งของเหล็กเส้นข้ออ้อยให้ยึดเกาะกับปูนได้ดีขึ้นด้วยการคำนวนค่าพื้นที่ในการยึดเกาะปูน ซึ่งไม่มีกำหนดไว้ในมาตรฐานไทย แต่มีระบุไว้ในมาตรฐานต่างประเทศ มีการผลิตเหล็กที่มีสิ่งเจือปนต่ำเพื่อความแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้งานเหล็กเส้นก่อสร้าง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทางบริษัทฯได้ทำการคิดค้นและพัฒนา เพื่อยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น มีมูลค่ามากขึ้น เพื่อให้อุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยมีการเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และมีมูลค่าสูงทัดเทียมกับนานาประเทศ นายชัยเฉลิม กล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับทาทา สตีล (ประเทศไทย)
บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ "TSTH" ประกอบด้วย สามบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ("NTS") ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ("SCSC") ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง และบริษัท เหล็กสยาม (2001) จำกัด ("SISCO") ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กทรงยาวรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิต เหล็กแท่ง 1.4 ล้านตัน และเหล็กสำเร็จรูป 1.7 ล้านตัน ประกอบด้วย เหล็กเส้นก่อสร้าง เหล็กลวด เหล็กรูปพรรณขนาดเล็ก เหล็กเพลา และเหล็กเส้นตัดและดัดสำเร็จรูป โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายผู้จำหน่ายสินค้าทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกเหล็กเส้น และเหล็กลวด ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก