กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--สำนักงาน กปร.
นายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.) กล่าวในระหว่างการเปิดงานโครงการเครือข่ายสถาบันการศึกษาสืบสานพระราชดำริรุ่นที่ 5 ประจำปี 2561 ว่าตลอด 70 ปี แห่งการครองสิริราชย์สมบัติ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้ทรงงานอย่างหนัก เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร และได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาในด้านต่างๆ ไว้อย่างมากมาย ซึ่งทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต่างน้อมนำไปประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จมากมาย
สำหรับโครงการเครือข่ายสถาบันการศึกษาฯมีเป้าหมายเพื่อให้คณาจารย์ ซึ่งเป็นกลไกที่ทำหน้าที่สืบสานและถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ และร่วมกันปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการน้อมนำแนวพระราชดำริไปสู่เด็กและเยาวชน ชุมชน สถาบันการศึกษา และเกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ อันจะส่งผลให้การเผยแพร่และการสืบสานพระราชดำริ บรรลุผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น
นายดุลทัศน์ กมล อาจารย์แผนกวิชาการโรงแรม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ หนึ่งในคณะอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการเปิดเผยว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายแห่ง เปรียบเสมือนห้องสมุดที่มีชีวิต ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบให้กับคนไทย พระองค์คือปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ทำให้ได้รับองค์ความรู้ที่ไม่มีในตำรา ซึ่งจะนำเรื่องราวเหล่านี้ไปเล่าสู่เด็กนักเรียนในวิทยาลัยเกษตรบุรีรัมย์ที่หลายคนไม่มีโอกาสได้มาสัมผัส ตั้งแต่เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน และจะทำต่อไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง
ทางด้านนายวินัย สวัสดิ์วิเชียร ราษฏร ต.แม่น้ำคู้ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง หนึ่งในเกษตรกรขยายผลของศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง ที่คณะอาจารย์เดินทางเข้าศึกษาดูงานเปิดเผยว่า จากที่เดินทางไปศึกษาเรียนรู้การทำการเกษตรจากศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ได้รับองค์ความรู้เรื่องการขยายพันธุ์พืช การทำน้ำส้มควันไม้ และงานปศุสัตว์อย่างถูกวิธี เช่น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และทำการประมงน้ำจืดแบบครบวงจร แล้วนำมาปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองจนประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันในพื้นที่สามารถปลูกพืชได้อย่างหลากหลายด้วยมีการปรับปรุงพัฒนาดินอย่างถูกวิธี ขณะที่พันธุ์พืช ที่ปลูกไม่ต้องหาซื้อเหมือนอย่างแต่ก่อน ด้วยมีความรู้ความเข้าใจในการขยายพันธุ์พืชอย่างถูกวิธี เช่น พริกไทย ผักหวานป่า ตลอดถึงพืชสมุนไพร นับเป็นการการลดต้นทุนด้านการผลิตได้เป็นอย่างดี และดีใจที่มีคณะอาจารย์เดินทางมาศึกษาดูงานเพื่อจะนำแนวทางที่ตนดำเนินงานและประสบความสำเร็จแล้วไปขยายผลสู่การรับรู้ของเยาวชนในสถาบันการศึกษาต่อไป เพราะเยาวชนเหล่านั้นคือกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต
สำหรับโครงการเครือข่ายสถาบันการศึกษาสืบสานพระราชดำริ ทางสำนักงาน กปร. ได้มีการจัดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 โดยนำคณะอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ จำนวน 71 คน เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยเล็งเห็นว่าผู้ที่จะทำหน้าที่ในการเผยแพร่และขับเคลื่อนองค์ความรู้ การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีมากกว่า 4,000 โครงการ กระจายสู่เด็กและเยาวชน เพื่อขยายผลและร่วมสืบสานพระราชดำริได้อย่างลึกซึ้งและยั่งยืน