กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
"Thai Reading Tree ชุด อ่าน อาน อ๊าน" เครื่องมือทรงพลัง ปลดล็อกสมองเด็กไทย สู่วิถีทางรักการอ่าน พฤติกรรมการอ่านหนังสือน้อย หากนำมาถกเถียงกันครั้งใด ก็โทษว่าเป็นความผิดของกระแสดิจิทัลไปเต็มๆ โดยพุ่งเป้าไปที่เด็กไทยกำลังโดนคลื่นไซเบอร์บุกยึดคลังสมอง แย่งเวลาที่ควรจะสนุกกับโลกตัวหนังสือไปเสียสิ้น แต่ถ้านั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับมาสำรวจต้นตอจะพบว่า ถ้าเราเปลี่ยนวิธีการอ่านเริ่มต้นของเด็กเพื่อทำให้เขามีจิตวิญญาณนักอ่านไปชั่วชีวิตจะดีกว่าไหม ซึ่งตอนนี้มีข่าวดีในวงการการศึกษาปฐมวัยว่ากำลังริเริ่มนำปฏิบัติการนวัตกรรมการอ่าน "หนังสือฝึกอ่านตามระดับ - Thai Reading Tree ชุด อ่าน อาน อ๊าน" เพื่อเด็กช่วงวัย 3 – 7 ปี ประมวลความรู้จากหนังสือชุด Oxford Reading Tree เครื่องมือสำหรับพัฒนาทักษะภาษาของเด็กอังกฤษ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มาใช้ปลดล็อกวิกฤตพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กไทย ซึ่งหลายเสียงยืนยันความสำเร็จที่วัดผลได้ประจักษ์ชัด
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน งานบูรณาการสนับสนุน โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก ๔) และ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก ๕) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นถึงปัญหาพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย ที่มีพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะด้านภาษา จึงจัดทำโครงการ "พัฒนาหนังสือและการอ่านเพื่อสร้างรากฐานการเรียนรู้ของเด็กไทย" เพื่อศึกษาการผลิตหนังสือฝึกอ่านตามระดับความสามารถหรือ Leveled Book จากงานวิจัยระดับนานาชาติ โดยประมวลและถอดความรู้จากหนังสือชุด Oxford Reading Tree ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาทักษะภาษาของเด็กในประเทศอังกฤษและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นชุดหนังสือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อพัฒนาการอ่าน โดยได้นำมาออกแบบและสร้างสรรค์ พัฒนาเป็นต้นฉบับหนังสือภาษาไทย Thai Reading Tree ชุด อ่าน อาน อ๊าน
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวสนับสนุนว่า กระบวนการพัฒนาสมองเด็กด้วยหนังสือที่มีคำประกอบภาพ จะช่วยพัฒนาการด้านภาษา ควบคู่กับสติปัญญา พร้อมกับปลูกฝังด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็กได้ เปรียบเหมือนตัวปลดล็อกที่ทรงพลังมหาศาล เพราะหนังสือประเภท Leveled Book หรือหนังสือฝึกอ่านตามระดับความสามารถแบบนี้ ได้ทลายกำแพงของความเชื่อเดิม มันท้าทายให้เด็กอยากอ่าน มีการผูกเรื่องราว เด็กๆ สนุก อยากอ่านซ้ำๆ เป็นบันไดการอ่านที่ทำให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องชีวิต เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและเรื่องราวรอบตัว ทั้งยังช่วยสานสัมพันธ์ในครอบครัว และทำให้ครูมีมิติในการพูดคุยกับเด็กได้มากขึ้น
"นวัตกรรมการอ่าน Thai Reading Tree จะช่วยเพิ่มอัตราการอ่านให้กับเด็กได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นความมหัศจรรย์การอ่านของเด็กปฐมวัย ซึ่ง สสส. อยากให้หนังสือชุดนี้เป็นสมบัติของชาติหรือสมบัติสาธารณะที่เด็กทุกคน ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึง เพื่อเป็นนวัตกรรมทางสังคมในการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ โดยเฉพาะการวางรากฐานการอ่านที่จะส่งต่อไปสู่การพัฒนาทุกด้าน และยังส่งผลให้ธุรกิจการอ่านกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เพราะจะช่วยเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการอ่านให้ตลาดหนังสือเด็กของสำนักพิมพ์ต่างๆ ได้ขยายวงกว้างขึ้น ทั้งยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรอบด้าน และต่อยอดไปถึงวัยอื่นๆ ได้อีกด้วย"
สุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการฯ และ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) กล่าวว่า หลังจากใช้เวลาพัฒนา "หนังสือฝึกอ่านตามระดับ - Thai Reading Tree ชุด อ่าน อาน อ๊าน" กว่า 2 ปี ได้นำชุดหนังสือนี้ไปทดลองใช้ในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พบว่าคุณครูมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน และพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กมากขึ้น เด็กๆ เองมีความสุขจากการอ่านหนังสือได้ด้วยตัวเองมากขึ้น และเพื่อยืนยันว่านวัตกรรมการอ่านหนังสือนั้นประสบความสำเร็จและเห็นผลจริง ต้องฟังจากผู้ปฏิบัติการจริง ซึ่งได้ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องมา 3-4 เดือนแล้ว
ระพีพรรณ พัฒนาเวช ผู้จัดการโครงการฯ และเกื้อกมล นิยม ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของหนังสือ Thai Reading Tree ชุด อ่าน อาน อ๊าน ต้องการให้เด็กรักการอ่านและพัฒนาทักษะการอ่าน ทั้งอ่านคำ อ่านออก อ่านเข้าใจ และตีความได้ จึงสร้างสรรค์หนังสือภาพตามพัฒนาการเด็กที่มีพื้นเรื่องเห็นได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ทั้งครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่ตัวเด็กคุ้นเคย และใส่ความเป็นไทยเข้าไป พร้อมเพิ่มเทคนิคการ์ตูนในภาพเพื่อสื่อให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในเรื่อง ทำให้เด็กมีส่วนร่วมได้ง่าย ส่วนภาษาที่ใช้ในหนังสือต้องมีความพอดี มีความเป็นวรรณกรรม และหลักภาษาตามบัญชีคำพื้นฐานระดับต่าง ๆ ที่เด็กไทยคุ้นเคย โดยต้องใส่ตัวช่วยและความท้าทายเข้าไป ซึ่งแตกต่างจากนิทานอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังใส่ใจกระบวนการนำไปใช้กับเด็ก ซึ่งพ่อแม่หรือครูจะใช้เพียงคำพูดเล่าตามที่กำหนดให้เท่านั้น จะไม่ชี้นำหรือบอกเล่ารายละเอียดในภาพจนเกินไป แล้วใช้คำถามปลายเปิด เพื่อให้เด็กมุ่งความสนใจไปที่หนังสือมากกว่าผู้ถ่ายทอด และได้ใช้จินตนาการ ความช่างสังเกต ความรู้เดิมที่มีอยู่ไปคิดต่อยอดจากหนังสือตรงหน้าได้นั่นเอง
ลัยลา สะอิมิ ครูโรงเรียนเทศบาลเทพราชบุรีรมย์ เผยความรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทักษะการอ่านของเด็ก และได้เห็นความพยายามของเด็กที่จะเข้าถึงหนังสือ มีความสุขกับหนังสืออย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับ ธัญวาเรส จำปานิล ครูโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล เธอเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็กที่มีความตื่นเต้นทุกครั้งที่มีโอกาสเลือกหนังสือที่เขาอยากฟังด้วยตัวเอง ทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมกับหนังสือมากขึ้น ซึ่งไพลิน นวลนก ครูศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนพิทักษา กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมการอ่านแบบนี้ว่าจะทำให้เด็กเริ่มรักที่จะเรียนรู้ เพราะเขาอยากจะอ่านเล่มต่อไป และพัฒนาไปสู่วิถีรักการอ่านโดยอัตโนมัติ