กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 เมื่อเร็วๆ นี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดเสวนาประเด็นร้อน "Master Plan สนามบินสุวรรณภูมิ...เรื่องสำคัญของชาติ" ที่อิมแพ็ค โฟรั่ม เมืองทองธานี นำโดย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการ กทม. อดีตที่ปรึกษาสนามบินนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมจราจรขนส่งและการบิน และ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ชี้ประเทศไทยไม่ควรย่ามใจว่า ที่ตั้งยุทธศาสตร์ดี ใคร ๆ ก็จะมาลงทุนมาเที่ยว หากสนามบินด้อยมาตรฐานและศักยภาพ บริการขาดคุณภาพ ไม่สามารถแข่งขันกับสนามบินอื่นได้ เครื่องบินไม่มาจะเกิดผลกระทบใหญ่ ชี้ประเด็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการจะก้าวเป็นศูนย์การบินระดับนานาชาติ เตรียมดึงอีกกลุ่มวิชาชีพเศรษฐศาสตร์เข้ามาร่วมผลักดันเรื่องคุณภาพ Master Plan สุวรรณภูมิ ซึ่งสำคัญต่อประเทศให้ถึงที่สุดเพื่อประโยชน์ของชาติ
ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม (Tossaporn Sreeiam)ประธานจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ'61 กล่าวเปิดเสวนาครั้งนี้ว่าเป็นการต่อเนื่องจากเวทีสาธารณะที่สมาคมสถาปนิกสยามจัดเมื่อ16 ตค.61 ซึ่งมี 12 องค์วิชาชีพและลงมติเอกฉันท์คัดค้านการย้ายตำแหน่งอาคารผู้โดยสาร หรือ เทอร์มินัลหลังที่ 2 (ใหม่) ผิดไปจากแผนแม่บทเดิม วัตถุประสงค์เพื่อระดมข้อคิดเห็นทางวิชาการและประสบการณ์เพื่อการวิเคราะห์แผนแม่บทสุวรรณภูมิและผลกระทบจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ใหม่) จึงเป็นหน้าที่ของเหล่าสถาปนิก วิศวกร และประชาชน ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อปกป้องประโยชน์บ้านเมืองและอนาคตของประเทศ
ในการเสวนา ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ (Samart Ratchapolsitte) ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมจราจรขนส่งและการบิน และวิศวกรผู้ร่วมวางแผนแม่บทสุวรรณภูมิ กล่าววิเคราะห์ถึงผลกระทบของการย้ายตำแหน่งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ใหม่) ที่ทาง ทอท.จ่อลงนามสัญญาจ้างออกแบบ ซึ่งหวั่นว่าสูญเงินงบประมาณค่าแบบ 330 ล้านบาท อีกทั้งขาดรายละเอียด ให้เวลาในการออกแบบและระยะเวลาในการก่อสร้างมีไม่เพียงพอในการสร้างสนามบินนานาชาติที่ต้องมีมาตรฐานศักยภาพและมีการแข่งขันสูงในการที่จะพัฒนาคุณภาพบริการสร้างความพึงพอใจต่อสายการบิน นักเดินทางและนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วโลก เมื่อวิเคราะห์ตำแหน่ง อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ใหม่) ที่มาตั้งผิดจุดจากผังแม่บทเดิมจะสร้างปัญหาในทุกด้าน ความแออัดของทางถนน ทั้งทางอากาศและทางบก ทางสัญจรในสนามบิน ต่อเวียนรถยาวกว่า 4 กิโลเมตร ทางเดินรถ APM ต้องต่อรถ 3 ต่อ ผู้มาใช้บริการไม่สะดวกและต้องมาเสียเวลาในสนามบินยาวนานเกินไป อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ใหม่) ไม่สามารถรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนตามทอท.อ้าง หากสร้างขยายเทอร์มินัล 1 ทั้งสองปีกด้านข้างตามแผนแม่บทเดิมที่วางไว้ ซึ่งจะใช้งบถูกกว่าหลายเท่าตัว กล่าวคือ ปริมาณหลุมจอดไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ไม่ตอบโจทย์ในการก่อสร้าง เทอร์มินัล 2 (ใหม่) ที่ต้องการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่มากขึ้น จึงขอแนะนำให้ลงทุนขยายเทอร์มินัล 1 ตามแผนแม่บทสุวรรณภูมิทั้งสองปีกจะตรงจุดและคุ้มค่ามากกว่า เพราะหากขยายเทอร์มินัล 1 ปีกสองข้างและอาคารแซทเทิลไลท์ 1 แล้วเสร็จ จะมีหลุมจอดเพิ่มขึ้น 28 หลุม การออกแบบก็เรียบร้อยแล้ว และ EIA ก็ผ่านแล้ว เมื่อเทียบกับ เทอร์มินัล 2 (ใหม่) ยังไม่ได้ออกแบบและ ครม. ยังไม่อนุมัติ รวมไปถึงค่าก่อสร้างที่สูงกว่ามาก ถึง 42,000 ล้านบาท ในขณะที่ หากขยายเทอร์มินัล 1 ทั้งสองปีก ค่าก่อสร้างเพียง 10,000 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน และระยะการก่อสร้างก็เร็วกว่าการสร้างเทอร์มินัลแห่งใหม่
นอกจากนี้ พบว่า เทอร์มินัล 2 (ใหม่) สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งไม่เหมาะสม ไม่สะดวกต่อการใช้งาน เนื่องจากระยะทางที่ไกล ระหว่างเทอร์มินัล 1 และเทอร์มินัล 2 รวมไปถึงการออกจากเทอร์มินัล 2 ไปยังพื้นที่ต่างๆ ในสนามบิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิด หาก ทอท. สร้างเทอร์มินัล 2 ในพื้นที่เดิมทิศใต้ด้านถนนบางนา-ตราด ตามแผนแม่บทเดิมที่กำหนดไว้ ซึ่งมีดุลยภาพและการระบายไหลเวียนทั้งทางบกและทางอากาศดีกว่าและปลอดภัยกว่า
การอ้างว่า ICAO เห็นชอบการสร้างเทอร์มินัล 2 (ใหม่) นั้น ในเอกสารตัวหนังสือระบุไว้เป็นเพียงทางเดินเชื่อมสำหรับในประเทศ (Concourse A Annex) ไม่ใช่เทอร์มินัล แต่อย่างใด และขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในบริบทที่เป็น Single Airport แต่ปัจจุบันนโยบายรัฐบาลกำหนดแผนการใช้ 3 สนามบิน จึงต้องนำมาประกอบในการพิจารณา
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค (Tortrakul Yomnak) กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการสร้างเทอร์มินัล 2(ใหม่) ทอท.ทำกันเงียบๆ โดยอ้างว่ายังไม่ได้เสนอครม.การผนึกกำลังของประชาชนและวิชาชีพสถาปนิก-วิศวกรครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีของความมุ่งมั่นรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ เริ่มแรกที่เห็นรอยสิว จากการออกแบบที่เห็นภายนอกแต่เมื่อมองลึกเข้าไปเป็นหนองไหลออกมา ภายใต้มีลักษณะก้อนมะเร็งซ่อนไว้ คลี่ไปถึงแผนแม่บทที่มีการดำเนินการไม่ชอบมาพากล สรุป 4 ประเด็นหลัก 1.การออกแบบสนามบิน เป็นEngineering Design มีทั้งการวิเคราะห์ วางแผนและพัฒนาเพื่อการใช้งานและความปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องสวยงามเป็นหลัก 2.การลงทุน ขยายสองปีกของเทอร์มินัล1 ใช้เพียง 1 หมื่นล้าน เทียบกับการสร้างเทอร์มินัล 2 (ใหม่)ผิดที่ผิดทาง ใช้งบ 45,000 ล้านบาท 3.คุณภาพของบริการ เรามักมองสนามบินแค่ความสวยงาม แต่ปัจจุบันและอนาคตแข่งกันที่การบริการ เราจะติดอันดับสนามบิน 1ใน 10 ของโลก ผู้ใช้บริการสามารถเข้า-ออกได้รวดเร็ว การรับ-ส่งไหลเวียนดี ไม่ใช่แค่เน้นการสร้างศูนย์การค้า 4.จะสร้างผลกระทบใหญ่และปัญหาตามมามากมายจากเทอร์มินัล 2 (ใหม่) ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตประเทศ อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศกว่าปีละ 1.1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามคนไทยอย่าเพิ่งหมดหวังว่าผู้บริหารประเทศไม่สนใจเรื่องนี้ ข้อมูลที่ท่านได้รับนั้นมีข้อเท็จหลายเรื่อง เรามุ่งมั่นต้องการให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้เข้าใจว่า ทำไมสถาปนิก วิศวกรและนักเศรษฐศาสตร์จึงออกมาคัดค้าน
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ (Atchapol Dusitanon) นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และหม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก ยืนยันว่าบรรดาสถาปนิกเข้าใจ เราไม่ได้มาถกเถียงเรื่องแบบหรือก่อสร้าง ทุกวันนี้องค์กรวิชาชีพคัดค้านทอท. เพราะดำเนินการผิดไปจากแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ จึงต้องร่วมกันผลักดันเพื่อประเทศ ซึ่งถ้าพวกเราไม่ทำแล้ว จะรอให้ใครทำ มันเป็นหน้าที่สำคัญของวิศวกรและสถาปนิกในการที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติในครั้งนี้