กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ หนุนขับเคลื่อนองค์กรด้วยนำเทคโนโลยีดิจิทัล – นวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เชื่อส่งผลดีกับเศรษฐกิจและสังคมไทย
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลัง ร่วมเปิดตัว โครงการ "B.VER - Blockchain Solution for Academic Document Verification " หรือ แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการตรวจสอบเอกสารทางการศึกษาด้วยเทคโนโลยี Blockchain ที่ให้สถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่างๆ สามารถตรวจสอบวุฒิการศึกษา หรือ Transcript ผ่านแพลตฟอร์มได้แบบเรียลไทม์ครั้งแรกของประเทศไทย ว่า โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มาสร้างสรรค์นวัตกรรมและประยุกต์ใช้ร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา ระดับอุดมศึกษา และองค์กรชั้นนำของประเทศ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทางการศึกษา เช่น วุฒิการศึกษา หรือ Transcript ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย
กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องการส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนขับเคลื่อนองค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการบริหารจัดการ รวมทั้งสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรมร่วมกัน
ดังนั้นการที่สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชนร่วมกันพัฒนาและนำร่องการใช้งานแพลดฟอร์มดิจิทัล B.Ver เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในตลาดแรงงาน รวมทั้งตัวนักศึกาสามารถใช้บริการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารผ่านทางช่องออนไลน์โดยตรง นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวก เพื่อประสิทธิภาพ ความโปร่งใสและลดโอกาสในการกระทำความผิดลงได้
โดยการพัฒนา B.VER ในครั้งนี้ นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับแวดวงการศึกษาและแรงงานของไทย ทำให้ป้องกันปัญหาการปลอมแปลงวุฒิการศึกษา จากเดิมที่สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาการปลอมแปลงวุฒิการศึกษาที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากบุคคลในทุกวงการ สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา ด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลขององค์กรธุรกิจรวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างประเมินมูลค่าไม่ได้ ซึ่งเราเชื่อว่าระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องแม่นยำ ประกอบกับรูปแบบการใช้งานที่สะดวกนี้ จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสารทางการศึกษาให้ลดน้อยลงไปได้
พร้อมกันนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ เร่งขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศที่ทุกคนเข้าถึงได้ พร้อมใช้ และอยู่ในราคาที่จ่ายได้ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้ทัดเทียมกับประเทศอื่น จะเห็นได้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ มีความคืบหน้าไปมาก ขณะนี้มีหมู่บ้านจำนวน 24700 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็น 75% ของหมู่บ้านทั่วประเทศ สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ 30/10 Mbps ได้แล้ว
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เร่งพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั้งด้านกายภาพควบคู่ไปกับด้านกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ผลักดันชุดกฎหมายดิจิทัลด้วยกันหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการส่งเสริมข้างต้น ถือเป็นการวางรากฐานและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เอง แทนการเป็นผู้ใช้งานเทคโนโลยีเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นนโยบายที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ "ไทยแลนด์ 4.0" ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจรากฐานของประเทศให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี