กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
โรคไข้ปวดข้อยุงลายระบาดในช่วงหน้าฝน แนะประชาชนโดยเฉพาะในพื้นภาคใต้ตอนล่าง ปฏิบัติตาม มาตรการ "3 เก็บ" หากคนในครอบครัวหรือชุมชนป่วยด้วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายควรพบแพทย์ทันที
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักในบางแห่ง ส่งผลให้บางพื้นที่มีแหล่งน้ำขัง นำมาซึ่งแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไข้ปวดข้อยุงลายตามมา และสำหรับสถานการณ์ของโรคไข้ปวดข้อยุงลายในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 ตุลาคม 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จำนวน 538 ราย พบมากที่ในจังหวัดสตูล213 ราย นราธิวาส 192 ราย สงขลา 118 ราย และตรัง 15 ราย ตามลำดับ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พบผู้ป่วยแล้ว 89 ราย
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ที่มียุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ มีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันไม่มีการรั้วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยอาการรุนแรงมากจนถึงการช็อกและมักมีอาการปวดข้อเพิ่มเติม ไวรัสติดต่อจากคนสู่คนได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้ ทั้งนี้การระบาดของโรคดังกล่าว หากพบผู้ป่วย 1 รายในพื้นที่ แสดงว่าในพื้นที่ดังกล่าวยังมีผู้ที่ติดเชื้ออีกประมาณ 10 ราย แต่อาการจะไม่รุนแรง
ลักษณะอาการที่เด่นชัดคือ มีไข้ ออกผื่นและจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดง อักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย อาการปวดข้อจะพบได้หลาย ๆ ข้อ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยสุดคืออาการปวดข้อเรื้อรัง บางรายเป็นหลายเดือนทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้
ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าวว่า เนื่องจากพบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา ในบริเวณอำเภอหาดใหญ่ สคร.12 สงขลา จึงขอให้ ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นใช้มาตรการ ใช้มาตรการ "3 เก็บ" ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกันโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย หรือใช้สเปรย์กระป๋องฉีดในมุมมืดของห้องนอนห้องนั่งเล่นและห้องครัว รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่วนในกรณีที่มีอาการป่วย ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด เพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น สำหรับผู้ที่มีประวัติถูกยุงลายกัด หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากพบว่ามีอาการป่วยด้วยไข้สูงเฉียบพลัน ผื่นขึ้นตามร่างกาย ตาแดง ปวดข้อเล็กๆ หลายตำแหน่ง ให้รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว และในส่วนก็โรงเรียนเอง ที่ขณะนี้เปิดเทอมแล้ว อย่าลืมทำลายลูกน้ำ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในโรงเรียน รวมทั้งในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ ให้ระวังติดโรคดังกล่าว ควรป้องกันด้วยการทายากันยุง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422