กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยปลอดภัยบนท้องถนนของเด็กและเยาวชน ชูยุทธศาสตร์เชิงรุก มุ่งสร้างแหล่งเรียนรู้และปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ หวังลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน
จากข้อมูลสถิติของเว็บไซต์เวิลด์แอตลาส เกี่ยวกับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลกปี พ.ศ. 2560 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 รายต่อประชากรจำนวน 100,000 นอกจากนี้ จากรายงานตัวเลขเมื่อปี พ.ศ. 2559 จำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย มีจำนวนมากถึง 22,356 ราย หรือเฉลี่ยถึงวันละ 62 ราย หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 2-3 ราย โดยมีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลจากกรณีรถชนประมาณ 1 แสนราย และกลายเป็นผู้พิการราว 6 หมื่นคนต่อปี
รศ. ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการผลักดันกลยุทธ์เชิงป้องกันเพื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยปลอดภัยในระดับสากล ทางมหาวิทยาลัยจึงได้มุ่งเน้นการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ สนับสนุนและส่งเสริมการฝึกอบรมให้ความรู้ พร้อมทั้งการสร้างเสริมจิตสานึกและทัศนคติที่ถูกต้องด้านความปลอดภัยให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทุกระดับควบคู่ไปพร้อมกัน"
ล่าสุด มหาวิทยาลัยมหิดลได้สร้างเส้นทางเพื่อการเรียนรู้กฎจราจรและความปลอดภัย เรียกว่า บลูสตรีท (Blue Street) หรือ ถนนสีฟ้า เชื่อมไปยังสนามเด็กเล่นและสวนสาธารณะศาลายาพาร์ค ภายใต้การดูแลของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือน - 6 ปี และปลูกฝังพฤติกรรมด้านความปลอดภัย โดยบลูสตรีทนี้ มีป้ายสัญลักษณ์และเครื่องหมายจราจรตลอดเส้นทาง เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้กฎจราจรและความปลอดภัยในการใช้ถนนและทางเท้าอย่างถูกต้อง รวมถึงให้ผู้ใช้เส้นทางภายในมหาวิทยาลัยใช้เส้นทางด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และคาดหวังว่าการปลูกฝังและให้คำแนะนำแบบผสมผสานเข้าสู่ชีวิตในรูปแบบนี้ จะสามารถทำให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับและเข้าใจเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและผู้อื่นได้อย่างยั่งยืน
โดยในหลายๆ ประเทศได้ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนของตนมาแล้ว อาทิ ประเทศญี่ปุ่น จะสอนให้นักเรียนอนุบาลเรียนรู้เครื่องหมายจราจร ผ่านนิทาน การระบายสี และการสวมบทบาทเป็นผู้เดินทาง ประเทศออสเตรเลีย ได้มีการเรียนการสอนนักเรียนในระดับประถมศึกษา โดยสอดแทรกเรื่องการจราจรและการใช้รถใช้ถนนผ่านการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น การตัดสินใจในการข้ามถนน การวิเคราะห์ความเสี่ยงในฐานะผู้ขับขี่ ส่วน ประเทศอังกฤษ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจะได้เรียนรู้ในเรื่องของความเสี่ยงและความประมาท มีการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุให้เด็กวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนั้นๆ เป็นต้น
"ในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนของเด็กและเยาวชน เราเห็นว่าหลายๆ ภาคส่วนยังไม่ได้ดำเนินงานในเรื่องนี้มากเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลและปลูกฝังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย โดยจะต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยจากภัยอุบัติภัยและอุบัติเหตุต่างๆ ด้วยวิธีการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ" รศ. ดร.กิติกร กล่าวเพิ่มเติม