กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เผยกระแสตอบรับงาน "วิศวกรรมแห่งชาติ 2561" (National Engineering 2018) งานสัมมนาวิชาการด้านวิศวกรรมและงานแสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรรมวิศวกรรมครั้งยิ่งใหญ่ ดีเกินคาด มีผู้สนใจทั้งจากวิศวกรและผู้สนใจเทคโนโลยีเข้าร่วมฟังเสวนา และเข้าร่วมเยี่ยมชมงานโชว์เทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ มากกว่า 25,000 คน ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ปลุกกระแสเทคโนโลยีนวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต พร้อมเร่งเดินหน้าผลักดันการพัฒนา และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรม ร่วมผลักดันประเทศให้ขับเคลื่อนไปด้วยปัญญา รองรับการก้าวเข้าสู่ "ประเทศไทย 4.0" ในอนาคต
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวภายหลังจากเสร็จสิ้นจากการจัดงาน "วิศวกรรมแห่งชาติ 2561" หรือ National Engineering 2018 ว่า จากภารกิจในการส่งเสริม และสนับสนุนความก้าวหน้าของวิชาชีพวิศวกรรม ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนการวิจัย การปรับปรุงมาตรฐาน และสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่ออาชีพวิศวกรรม และสังคม ผ่านเวทีเสวนาและพื้นที่โชว์นวัตกรรมภายในงาน วิศวกรรมแห่งชาติ 2561 ในครั้งนี้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และบรรลุวัตถุของประสงค์ของการจัดงานตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ ซึ่งต้องการให้เกิดการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรม ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าของไทย ตลอดจนมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน พร้อมร่วมอัพเดทเทรนด์และเทคโนโลยีวิศวกรรมโลกผ่านงานสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ รวมทั้งสร้างโอกาสการเป็นผู้นำของประเทศไทยทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และตอกย้ำความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้ที่สนใจทั้งจากวิศวกร นักศึกษา และผู้ชมทั่วไปที่สนใจเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ เข้าร่วมฟังเสวนา และเข้าร่วมเยี่ยมชมงาน มากกว่า 25,000 คน ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้
สำหรับการจัดงานในปี 2561 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Engineering for Society; Smart Engineering, Smart Life, Smart Nation - วิศวกรรมอัจฉริยะ เพื่อชีวิตทันสมัย สู่ประเทศไทยแห่งอนาคต" โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรชั้นนำของประเทศไทย นำสุดยอดนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาจัดแสดงภายในงานมากกว่า 100 ราย เพื่อร่วมปฏิรูปประเทศสู่สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา เสริมสร้างศักยภาพให้ทุกภาคส่วนมีส่วนช่วยยกระดับสังคมสู่สมาร์ทไลฟ์ สมาร์ทเนชั่น อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยก้าวทันเทคโนโลยีและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดแก่สังคมไทย โดยมีไฮไลท์อยู่ที่ เวทีปาฐกถาพิเศษ จาก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มาร่วมให้ความรู้ เพื่อยกระดับพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ช่วยสะท้อนบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีวิศวกรรมในการช่วยผลักดันประเทศให้ขับเคลื่อนไปด้วยปัญญา และสามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากนี้ ยังมีไฮไลท์อื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ
การติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเพื่อให้เป็นบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ซึ่งในปีนี้ มีบริษัททั้งภาครัฐ และเอกชนเอง นำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาร่วมจัดแสดงภายในงานมากมาย เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า "PEA Hive Platform", เวทีเสวนาเรื่องบ้านปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างให้คนรู้และตระหนักในเรื่องความปลอดภัยในอาคาร โดยมีวิทยากรระดับ Vice Pressident จาก National Fire Safety Association (NFPA) มาให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในอาคาร
นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต รถพลังงานไฟฟ้า (EV Car) นอกจากจะมีค่ายรถนำรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งที่เป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก นำมาโชว์ และให้สอบถามรายละเอียดภายในงานแล้ว ยังมีการนำรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ในโครงการ "ซียู โตโยต้า ฮา:โม" มาให้ผู้ที่สนใจได้ทดลองขับภายในงานอีกด้วย
การประปานครหลวง ได้คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมสำหรับการตรวจสอบสภาพท่อ หาตำแหน่งจุดแตกรั่ว โดยการใช้หุ่นยนต์เข้าไปสำรวจในท่อประปาแทน ในชื่อโครงการ หุ่นยนต์สำรวจภายในท่อประปา ไกรทอง ซึ่ง ไกรทองสามารถช่วยให้การประปานครหลวง สามารถลดการสูญเสียน้ำในจุดงานที่หาตำแหน่งรั่วได้ยาก นอกจากนี้ ยังมีชุดอุปกรณ์วิเคราะห์เสียงน้ำรั่วแบบพกพา ให้ศึกษาและสอบถามรายละเอียดได้
บูธ ปตท. ได้นำเครื่องช่วยเดิน "Brain Machine Interaction System" สำหรับผู้ที่เป็นอัมพฤต อัมพาต ได้ฝึกการเดิน โดยมีระบบสั่งการแบบ Real Time จากสมอง โดยปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คาดว่าไม่เกิน 3-5 ปีนี้ จะมีการนำเครื่องนี้ไปอยู่ในแผนกกายภาพตามโรงพยาบาลต่าง ๆ นอกจากนี้ ทาง ปตท. ยังได้นำนวัตกรรมโดรน MPIO ที่ใช้สำหรับการสำรวจปล่องไฟและท่อแก๊สทางอากาศ และเครื่องสำรวจทางน้ำ AUV มาให้ยลโฉมภายในงานบูธ SCG กับเทคโนโลยีการก่อสร้างระบบผนังมวลเบาเสริมโครงเหล็กบูธคลินิกช่าง บริการให้คำปรึกษา "ฟรี" ปัญหาเรื่องบ้าน บ้านทรุด บ้านร้าว และปัญหาทางวิศวกรรมต่าง ๆ โดยวิศวกรอาสาของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาโซนกิจกรรมจัดการแข่งขัน ซึ่งมีการจดการแข่งทุกวัน ตลอดระยะเวลาการจัดงาน อาทิ การแข่งขันการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ในงานเชื่อมอุตสาหกรรม โดยมีทีมจากวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ชื่อทีม Charity เป็นทีมชนะเลิศได้เงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล, การแข่งขันอากาศยานไร้คนขับ กรณีดับเพลิง (Drone for Firefighting) โดยทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ทีมมหาวิทยาลัยนเรศวร, การแข่งขันหุ่นยนต์ต่อสู้ (Battle Robot Warrior 2018) โดยมีทีม Mini FreeStly เป็นทีมชนะเลิศ
ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม ประธานการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 กล่าวว่า จากความเปลี่ยนแปลงของสังคม และเศรษฐกิจ เป็นทั้งอุปสรรค และโอกาสของวิศวกรชาวไทย ที่ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการแข่งขัน และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วิศวกรไทยต้องสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างประสิทธิผลให้ได้มากกว่าเดิม รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทดแทนการใช้แรงงานคน และจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ หลากหลายสาขา เพื่อตอบรับโอกาสของงานด้านวิศวกรรมในการก้าวสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ตลอดจนภาคเอกชน ที่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต่างเห็นความสำคัญในการที่จะจัดให้มีเวทีเสวนาและจัดนิทรรศการเพื่อยกระดับความรู้วิศวกรไทย และได้มีการหารือกันถึงความร่วมมือในการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 ต่อไปอีกด้วย