กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
คน กทม ความพึงพอใจการรักษาพยาบาลฟรีมากที่สุด 30.2 % อายุเกิน 60 กังวลเรื่องรายได้และอยากให้รัฐดำเนินการจัดสวัสดิการเงินดำรงชีพรายเดือน
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการบำนาญแห่งชาติ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,211 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 25 - 30 ตุลาคม 2561 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องการจัดสวัสดิการบำนาญแห่งชาติ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุแล้ว (Aging Society) ตั้งแต่พ.ศ. 2547 โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (วัย 60 ปีขึ้นไป) เกินร้อยละ 10 ของประชากร การจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Absolute Aged Society) ก็ต่อเมื่อมีสัดส่วนประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป เกิน ร้อยละ 20 ของประชากร ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ผู้สูงอายุ (Older person) หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) คือสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ 2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) คือสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ 3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) คือสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2565 จะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ การจัดสวัสดิการบำนาญแห่งชาติสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในอนาคตเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐควรให้ความสำคัญเพื่อเตรียมการรองรับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ ความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดสวัสดิการบำนาญแห่งชาติ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความพึงพอใจเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการของรัฐอยู่ในระดับพึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 56.5 รองลงมาคือ พึงพอใจน้อย ร้อยละ 22.8 และน้อยที่สุดคือ พึงพอใจมาก ร้อยละ 20.7
และคิดว่าการจัดสวัสดิการของรัฐโครงการใดที่มีความพึงพอใจมากมากที่สุดคือรักษาพยาบาลไม่เสียค่าใช้จ่าย ร้อยละ 30.2 อันดับที่สองคือ เบี้ยยังชีพ 600 – 1,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 23.5 อันดับที่สามคือ เรียนฟรี 12 ปี ร้อยละ 17.9 อันดับที่สี่คือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 12.5 อันดับที่ห้าคือ เงินสงเคราะห์ของผู้พิการ / คนไร้ที่พึ่ง ร้อยละ 8.1 และอันดับสุดท้ายคือ ใช้บริการขนส่งสาธารณะของรัฐฟรี (รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี) ร้อยละ 7.8
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีการระบุให้รัฐต้องมีการจัดสวัสดิการให้กับประชาชน ร้อยละ 42.1 รองลงมาคือ ไม่ทราบ ร้อยละ 38.3 และน้อยที่สุดคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.6
และได้มีการเตรียมตัวหลังอายุ 60 ปีโดยการออมเงินไว้ใช้หลังอายุ 60 ปี มากที่สุด ร้อยละ 41.1 อันดับที่สองคือ การทำประกันแบบออมทรัพย์ไว้ใช้หลังอายุ 60 ปี ร้อยละ 30.1 อันดับที่สามคือ การลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆไว้ใช้หลังอายุ 60 ปี ร้อยละ 19.1 และน้อยที่สุดคือไม่ได้เตรียม ร้อยละ 9.7
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความกังวลใจเมื่ออายุ 60 ปี ในเรื่องรายได้ มากที่สุด ร้อยละ 44.8 อันดับที่สองคือ สุขภาพกาย/ใจ ร้อยละ 39.6 อันดับที่สามคือ คนดูแล ร้อยละ 8.8 และอันดับสุดท้ายคือ อาหารปลอดภัย ร้อยละ 6.8
เมื่ออายุ 60 ปีต้องการให้รัฐดูแลสวัสดิการด้าน รักษาพยาบาลไม่เสียค่าใช้จ่ายมากที่สุด ร้อยละ 45.9 อันดับที่สองคือ เบี้ยยังชีพ (600 – 1,000 บาทต่อเดือน ตามขั้นบันไดอายุ) ร้อยละ 26.7 อันดับที่สามคือ ลดหย่อนค่าสาธารณูปโภค ร้อยละ 16.0 อันดับที่สี่คือ ใช้บริการขนส่งสาธารณะของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ร้อยละ 7.9 และอันดับที่ห้าคือ รับบริการจากรัฐครึ่งราคา (เช่น ลดค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ) ร้อยละ 3.3
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายจัดสวัสดิการให้กับประชาชนในเรื่องบริการสาธารณสุขฟรี มากที่สุด ร้อยละ 29.8 อันดับที่สองคือ เงินดำรงชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ ร้อยละ 28.5 อันดับที่สามคือ การประกันรายได้เมื่อตกงานหรือไม่มีงานทำ ร้อยละ 22.1 อันดับที่สี่คือ เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี ร้อยละ 15.2 และอันดับที่ห้าคือ ใช้บริการขนส่งสาธารณะของรัฐฟรี ร้อยละ 4.4
อยากให้รัฐดำเนินการจัดสวัสดิการเงินดำรงชีพรายเดือน (บำนาญสำหรับประชาชนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 89.5 และเห็นด้วยกับการเปลี่ยน เบี้ยยังชีพ ให้เป็นเงินดำรงชีพรายเดือน (บำนาญสำหรับประชาชนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 83.8
คิดว่ารัฐควรจัดบำนาญรายเดือนสำหรับทุกคน เดือนละมากกว่า 3,000 บาท ไม่เกิน 5,000 บาท มากที่สุด ร้อยละ 54.5 อันดับที่สองคือ เดือนละ 600-1,000 บาท ร้อยละ 31.5 และอันดับสุดท้ายคือ เดือนละ 2,500 บาท (ขึ้นลงตามเส้นความยากจน) ร้อยละ 13.1