บีเอสเอเผยผลการศึกษาล่าสุด ชี้อุตสาหกรรมไอทีของไทยสามารถเติบโตเกือบ 2 เท่าภายในปี 2552

ข่าวทั่วไป Friday December 9, 2005 17:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
บีเอสเอเผยผลการศึกษาล่าสุด ชี้อุตสาหกรรมไอทีของไทยสามารถเติบโตเกือบ 2 เท่าภายในปี 2552 อุตสาหกรรมไอทีของไทยมูลค่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อาจเติบโตเป็น 4.5 พันล้านเหรียญ หากลดการละเมิดได้ 10 เปอร์เซ็นต์
9 ธันวาคม 2548 — กรุงเทพฯ — ภาคอุตสาหกรรมไอทีเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค แต่โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้กลับถูกบั่นทอนด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หากสามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภูมิภาคได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ให้เป็น 43 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลา 4 ปี ก็จะสามารถอัดฉีดเม็ดเงิน 135 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มยอดรายได้ท้องถิ่นกว่า 106 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และสร้างงานใหม่ได้กว่า 2 ล้านอัตรา ซึ่งนับว่ามากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน รายละเอียดได้จากการสำรวจใหม่ที่เปิดเผยโดยกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ในวันนี้
ผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งดำเนินการโดยอินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (ไอดีซี) ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาจได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ โดยจะสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น 14 พันล้านเหรียญ และเงินภาษีเหล่านี้จะนำไปใช้เป็นงบประมาณในการจัดหาสวัสดิการและบริการให้แก่ประชาชน
มร. เจฟฟรีย์ ฮาร์ดี รองประธานและผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ กล่าวว่า “การเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีในเอเชีย-แปซิฟิกก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ โดยอุตสาหกรรม ไอทีได้ขยายตัวจนมีมูลค่า 195 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างงาน 4,700,000 ตำแหน่ง และสามารถจัดเก็บภาษีได้ถึง120 พันล้านเหรียญในแต่ละปี แต่ประเทศในภูมิภาคนี้สามารถทำได้ดีกว่านี้ ถ้าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภูมิภาคสามารถลดลงไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์ อุตสาหกรรมนี้สามารถเติบโตได้เร็วขึ้นเป็น 3 เท่าใน 4 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตใน 4 ปีที่ผ่านมา และยังกระจายการขยายตัวของอุตสาหกรรมไอที
“ซอฟต์แวร์เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของอุตสาหกรรมไอที ทั้งนี้ รวมถึงฮาร์ดแวร์และการบริการทางไอทีอีกด้วย เพียงแต่ประเทศต่างๆ ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทุกฝ่ายก็จะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง” มร.ฮาร์ดี กล่าวเสริม “คนทำงานก็จะได้รับโอกาสการจ้างงานมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคจะมีทางเลือกที่หลากหลาย นักคิดค้น/นักนวัตกรรมจะได้รับผลตอบแทนทางด้านการเงินมากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการก็จะมีโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น และรัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น”
สำหรับประเทศไทย ผลการศึกษาดังกล่าวชี้ว่า หากสามารถลดอัตราการละเมิดได้ 10 เปอร์เซ็นต์ จาก 79 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน ให้เหลือ 69 เปอร์เซ็นต์ภายใน 4 ปี ก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมไอทีเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2552
นอกจากนั้น ประเทศไทยจะสามารถอัดฉีดเม็ดเงิน 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สร้างงานไฮเทคที่มีค่าตอบแทนสูงจำนวน 4,700 อัตรา เพิ่มรายได้ 1,000 ล้านเหรียญให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ และเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี 74 ล้านเหรียญ
ในช่วงปี 2543 ถึง 2547 ความต้องการซอฟต์แวร์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่วยให้อุตสาหกรรมไอทีสามารถเพิ่มมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ให้กับระบบเศรษฐกิจ และสร้างงานไอที 8,000 อัตรา ซึ่งหากสามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้มากขึ้น ประเทศไทยก็จะสามารถเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีในอนาคต โดยจะขยายตัวในอัตรา 90 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเติบโต 64 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2547 ถึง 2552
มร. โรแลนด์ ชาน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ “ผลการศึกษาระบุอย่างชัดเจนว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ไม่เพียงแต่เป็นการโจรกรรมซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่ยังสร้างความสูญเสียทั้งในส่วนของการจ้างงาน ภาษี และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะชะลอการขยายตัวของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงต้องดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของการสร้างงาน การขยายโอกาสทางด้านธุรกิจ การเพิ่มรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อป้องปรามการละเมิด และให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งนี้บีเอสเอพร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว”
ผลการศึกษาของบีเอสเอ-ไอดีซีชี้ว่า อุตสาหกรรมไอทีทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 33 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2547 ถึง 2552 ซึ่งหากลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะสามารถเพิ่มอัตราการขยายตัวดังกล่าวเป็น 45 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังสรุปว่า 4 ใน 5 ประเทศจะสามารถขยายอุตสาหกรรมไอทีได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หากสามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ สำหรับประเทศที่มีอัตราการละเมิดสูงสุดจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการลดอัตราการละเมิด กล่าวคือ เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตราการละเมิดสูงที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากอัตราการละเมิดที่ลดลง
ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนมีแนวโน้มว่าจะได้รับประโยชน์มากกว่าประเทศอื่นๆ โดยจะสามารถขยายอุตสาหกรรมไอทีในประเทศได้ถึง 3 เท่า และหากลดอัตราการละเมิดได้ 10 เปอร์เซ็นต์ จีนก็จะสามารถเพิ่มตำแหน่งงานทางด้านไอทีได้ถึง 2.6 ล้านอัตราในช่วง 4 ปี ซึ่งพอๆ กับจำนวนตำแหน่งงานไอทีที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นตลอดช่วง 30 ปี
สำหรับอินเดีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมไอทีของประเทศเติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ตามผลการสำรวจทั่วโลก อย่างไรก็ดี สามารถทำให้อุตสาหกรรมไอทีเติบโตเกือบ 3 เท่าภายในปี 2552 และสร้างงานไอทีได้ 360,000 อัตรา หากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ตลอด 4ปี
การศึกษาดังกล่าวที่ได้รับการสนับสนุนจากบีเอสเอ สามารถดูรายละเอียดได้จาก http://www.bsa.org/idcstudy ทั้งนี้ยังไม่เคยมีการศึกษาในลักษณะนี้มาก่อน โดยมุ่งที่จะประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมไอทีใน 70 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่ปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด และให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องผลกระทบของการละเมิดลิขสิทธิ์
ด้วยการใช้ข้อมูลการตลาดทางด้านการใช้จ่ายจากภาคอุตสาหกรรมไอที, การจ้างงาน, และรายได้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมนี้, ไอดีซีได้ทำการวิเคราะห์ในแต่ละประเทศของ 70 ประเทศที่ทำการสำรวจ เพื่อหาผลที่จะเกิดขึ้นต่อการใช้จ่ายของซอฟต์แวร์ การให้บริการที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงกระบวนการจัดจำหน่าย หากอัตราการละเมิดลดลง
ที่จริงแล้ว ในปัจจุบันอุตสาหกรรมไอทีรองรับองค์กรธุรกิจกว่า 1.1 ล้านแห่งทั่วโลก และสร้างรายได้เกือบ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับระบบเศรษฐกิจของโลก เมื่อพิจารณาในระดับโลกแล้ว จะพบว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 4 ปี จะช่วยสร้างรายได้จากภาษี 67 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากข้อมูลขององค์การความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development) โดยเงินภาษีดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้เป็นงบประมาณในการจัดหา:
- การฝึกอบรมด้านวิชาชีพสำหรับประชากร 435 ล้านคน
- บริการด้านสุขภาพสำหรับประชากร 45 ล้านคน
- คอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนกว่า 33 ล้านคน หรือ
- การศึกษาระดับปริญญาสำหรับประชากร 6.6 ล้านคน
นอกจากจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว การศึกษานี้ยังระบุว่าประเทศต่างๆ จะสามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ถ้าหากดำเนินมาตรการหลัก 5 ข้อดังต่อไปนี้:
- การปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ทันสมัย โดยปรับใช้ข้อกำหนดขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาสากล (World Intellectual Property Organization - WIPO)
- การสร้างกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่แข็งแกร่งตามข้อกำหนดของ WTO รวมถึงกฎหมายต่อต้านการละเมิดที่เข้มงวด
- การจัดสรรทรัพยากรบุคคลของภาครัฐที่เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ประสานงานร่วมกับประเทศอื่นๆ และจัดการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้แก่เจ้าหน้าที่
- การให้ความรู้และกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชน และ
- การกำหนดให้หน่วยงานราชการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดี
“รายงานดังกล่าวช่วยให้เราสามารถประเมินผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเป็นผลมาจากการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการให้ความรู้และกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชน” มร.มาร์เซล วอร์เมอร์ดาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาดไอทีของไอดีซี
“รายงานฉบับนี้ให้ภาพที่ครอบคลุมในสิ่งที่เราทราบอยู่แล้วนั่นคือ การลดอัตราการละเมิดลิขสิทธ์ซอฟต์แวร์สามารถให้ผลที่เป็นรูปธรรมที่มากขึ้นในรูปแบบของเงินทุนสนับสนุนสำหรับการศึกษา การฝึกอบรบ การดูแลสุขภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม มร.วอร์เมอร์ดาม กล่าวเสริม
เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ (Business Software Alliance; BSA) คือองค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโลกดิจิตอลที่มีความปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอคือกระบอกเสียงของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ สมาชิกบีเอสเอคือตัวแทนของการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โครงการต่างๆของบีเอสเอล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์เทคโนโลยีผ่านภาคการศึกษาและนโยบายที่สนับสนุนการปกป้องลิขสิทธิ์, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้, การค้า และอีคอมเมิร์ซ สมาชิกกลุ่มบีเอสเอประกอบด้วย อะโดบี (Adobe), แอปเปิล (Apple), ออโต้เดสก์ (Autodesk), เอวิด (Avid), เบนต์เลย์ซิสเต็มส์ (Bentley Systems), บอร์แลนด์ (Borland), คาเดนซ์ดีไซน์ซิสเต็มส์ (Cadence Design Systems), ซิสโก้ซิสเต็มส์ (Cisco Systems), ซีเอ็นซีซอฟต์แวร์มาสเตอร์แคม (CNC Software/Mastercam), เดลล์ (Dell), เอ็นทรัสต์ (Entrust), เอชพี (HP), ไอบีเอ็ม (IBM), อินเทล (Intel), อินเทอร์เน็ตซีเคียวริตี้ซิสเต็มส์ (Internet Security Systems), แมโครมีเดีย (Macromedia), แมคอะฟี (McAfee), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), มินิแทบ (Minitab), พีทีซี (PTC), อาร์เอสเอซีเคียวริตี้ (RSA Security), เอสเอพี (SAP), โซลิดเวิร์คส (SolidWorks), ไซเบส (Sybase), ไซแมนเทค (Symantec), ซินนอปซิส(Synopsys), เดอะแม็ตช์เวิร์คส (The MathWorks), และยูจีเอส (UGS)
ในประเทศไทย บีเอสเอทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย, สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในการสนับสนุนสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา
เกี่ยวกับไอดีซี
ไอดีซีเป็นผู้นำด้านการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับตลาด การให้คำปรึกษา และการจัดงานสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ไอดีซีช่วยให้บุคลากรทางด้านไอที ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ และนักลงทุนสามารถทำการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดซื้อเทคโนโลยีและการกำหนดกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจโดยอ้างอิงข้อเท็จจริง นักวิเคราะห์กว่า 775 คนของไอดีซีใน 50 ประเทศมีความเชี่ยวชาญทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับแนวโน้มและโอกาสทางด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม โดยในช่วงระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ไอดีซีได้จัดหาข้อมูลเชิงลึกซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์
บริษัทพีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด
อีเมล์ pranee@pc-a.co.th โทรศัพท์ 0 2971 3711--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ