ฟื้นภารกิจความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องและองค์กรระหว่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 9, 2008 11:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กปส.
สานต่อภารกิจตามกรอบความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้อง 14 เมืองต่างประเทศ ทั้งการจัดการเมือง สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรมประเพณี และการท่องเที่ยว ให้เป็นแบบอย่างความสัมพันธ์กับเมืองอื่นในอนาคต ส่วนความสัมพันธ์องค์กรระหว่างประเทศประสานภารกิจให้ชัดเจน ด้านลดโลกร้อนเร่งประชุมก่อนประชุมอาเซียน
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกับเมืองต่างๆ ว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการด้านความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับเมืองต่างๆ จำนวน 14 เมือง ในลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง (Sister City) คือ วอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ปักกิ่ง ประเทศจีน บูดาเบส ประเทศฮังการี บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย มอสโคว ประเทศรัสเซีย เซนปิเตอร์ส เบิร์ก ประเทศรัสเซีย มนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จาการ์ตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ฮานอย ประเทศเวียดนาม เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เอสตานา ประเทศคาซักสถาน แต้จิ๋ว ประเทศจีน ฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น และโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยในจำนวนนี้คณะผู้บริหารชุดปัจจุบันได้ลงนามความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้อง 3 เมือง คือ กรุงโซล เมืองฟูกูโอกะ และเมืองแต้จิ๋ว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและสานต่อภารกิจตามกรอบความร่วมมือที่ได้ลงนามไป โดยกำหนดเป็นแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินการที่ต่อเนื่อง และแนวทางสำหรับความสัมพันธ์กับเมืองที่จะลงนามในอนาคต โดยเบื้องต้นแนวทางที่เป็นการร่วมมือกันจะเป็นด้านการจัดการเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และการท่องเที่ยว โดยการศึกษาดูงานของข้าราชการกรุงเทพมหานครจะให้เชื่อมโยงกับเมืองที่ลงนาม และใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ดังกล่าว
นอกจากเมืองต่างๆ ที่ลงนามความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องแล้ว กรุงเทพมหานครยังมีองค์กรระหว่างประเทศที่ติดต่อประสานงานด้านต่างๆ เช่น องค์กร UNESCO องค์กร Metropolis องค์กร CITYNET เป็นต้น ซึ่งมีภารกิจแตกต่างกันไป ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นรวบรวมความสัมพันธ์แต่ละด้านให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านความสัมพันธ์ของประเทศสมาชิก ด้านวิชาการ ที่สามารถนำมาบริหารจัดการกรุงเทพมหานครได้อย่างมีมาตรฐาน
นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ในเร็วๆ นี้กรุงเทพมหานครจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกับประเทศอาเซียน โดยเชิญผู้นำประเทศหรือผู้แทนร่วมประชุมในประเด็นด้านการศึกษาและพัฒนาบุคคล ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการลดภาวะโลกร้อน ให้นำเข้าประชุมเพื่อกำหนดกรอบหารือก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่ของอาเซียนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ