กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จับมือเป็นครั้งแรกกับธนาคารออมสิน เสริมสร้างความสามารถในการประกอบอาชีพของคนไทย ปล่อยกู้สินเชื่อรายบุคคลเพื่อนำไปใช้ขยายกิจการแม้ปราศจากหลักทรัพย์วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท เผยปี 62 เตรียมเพิ่มมาตรฐานอาชีพใหม่อีก 10 สาขาอาชีพ และคาดมีผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพจากเดิม 55,000 ราย เป็น 100,000 ราย
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช. เปิดเผยว่า สคช. เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอาชีพ ที่จำเป็นต่อการสร้างศักยภาพกำลังคนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้ร่วมกับธนาคารออมสินเป็นธนาคารแรกในการสนับสนุนการบริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับคนไทยในทุกอาชีพที่ผ่านการสอบประเมินคุณวุฒิวิชาชีพและได้รับใบรับรองจาก สคช.
"ความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้อาชีพหลายๆ อาชีพ ที่ประสบปัญหาในการเริ่มต้นอาชีพ ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ตลอดจนโอกาสในการขยายธุรกิจ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น โดยผู้ที่ผ่านการสอบประเมินคุณวุฒิวิชาชีพและได้รับใบรับรองจาก สคช. จะได้รับสิทธิพิเศษในการที่ธนาคารจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้ ไม่ว่าท่านจะทำอาชีพนั้นเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม อาทิ ขายอาหาร ถ่ายภาพ ช่างเสริมสวย มัคคุเทศก์ ล่ามแปล เป็นต้น " นายพิสิฐ กล่าว
นายอมรฤทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มกำกับธรรมาภิบาล กล่าวว่า ธนาคารออมสินมีนโยบายในการให้บริการลูกค้าทั้งรายย่อยรากหญ้าไปถึงบริษัท ห้างร้าน องค์กร และ 95% ของลูกค้าธนาคารเป็นลูกค้าสินเชื่อรายย่อย จึงมีความสอดคล้องอย่างลงตัวกับ สคช. ในการสนับสนุนคนไทยในอาชีพต่างๆ ให้มีความสามารถในการลงทุน โดยจะพิจารณาผู้ที่มีใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเป็นสำคัญ ซึ่งธนาคารออมสินวางแผนในการช่วยเหลือด้านสินเชื่อที่ปราศจากหลักทรัพย์ค้ำประกันในวงเงินไม่เกินรายละ 200,000 บาท ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีทักษะ มีความชำนาญการ การที่มีเม็ดเงินไปสนับสนุนจะยิ่งทำให้เสริมความแข็งแกร่งให้กับกำลังคนของชาติโดยตรง อันจะมีผลต่อคุณภาพสังคม เศรษฐกิจในระดับมหภาคได้ในที่สุด
ปัจจุบัน สคช. ได้ดำเนินการจัดทำคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพแล้วเสร็จไปแล้ว 51 สาขาวิชาชีพ600 อาชีพ 1,609 ชั้นคุณวุฒิ มีผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ 55,000 ราย โดยในปี 2562 ตั้งเป้าจะเพิ่มอีก 40,000 ราย และเพิ่มมาตรฐานอาชีพอีก 10 สาขาวิชาชีพ อาทิ อาชีพดูแลสัตว์เลี้ยง อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรและโลหะการ อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปเหล็ก ธุรกิจการบิน สาขางานเทคนิคบนลานจอด ธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ธุรกิจอาหาร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร มาตรวิทยาระยะที่ 3 ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นสูงระยะที่ 2 วิศวกรรมชีวการแพทย์ สาขาเทคนิคกายอุปกรณ์