กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 กระทรวงวิทย์ฯ จัดกิจกรรม "Northern STEM Day ครั้งที่ 1 @Northern Science Park" สร้างโอกาสเยาวชนไทยเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ บูรณาการองค์ความรู้ 4 สาขาวิชา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ผ่านกิจกรรมฐานการเรียนรู้ผลักดันแนวคิด STEM ตามนโยบายกระทรวงวิทย์ฯ หวังจุดประกายความคิดเยาวชนเพื่อการเรียนรู้สู่อนาคต พร้อมชมความก้าวหน้าทางวิทยาการและผลผลิตนวัตกรรมอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือผ่านบูธ Startup และหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับนักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 1,000 คน ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
เวลา 10.30 น. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกิจกรรมงาน Northern STEM Day ครั้งที่ 1 @Northern Science Park พบปะนักเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จำนวนกว่า 800 คน พร้อมให้โอวาทสร้างแรงบันดาลใจ ในการเรียนรู้ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แก่เยาวชนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรม STEM DAY โดยเป็นกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเยาวชนที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือจัดขึ้นภายใต้กรอบนโยบายกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบ STEM EDUCATION (Science Technology Engineering and Mathematics Education) โดยสนับสนุนให้ใช้วิธีการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนเกิดความคิด ประดิษฐ์ เรียนรู้ และเข้าใจด้วยตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิธีคิดแบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ในรูปแบบ Coding With Robotics ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนของเยาวชนยุคปัจจุบัน
ต่อมาเยี่ยมชมบูธผลงานนวัตกรรมผ่านโซนต่างๆ ในงาน โดยมุ่งหวังกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้เยาวชนได้สร้างสรรค์จินตนาการผ่านสิ่งประดิษฐ์ ผลผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมด้วยการสัมผัสประสบการณ์จากการทดลองและเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อการต่อยอดความคิดเกิดเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต จากกิจกรรมฐานการเรียนรู้เพื่อจุดประกายความคิด (STEM Base) ทั้ง 5 ฐาน โดยเยาวชนจะได้สัมผัสการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เรียนรู้การประหยัดพลังงานจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าผ่านฐานการเรียนรู้นวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เรียนรู้คุณประโยชน์และแนวคิดการสร้างนวัตกรรมอาหารไขมันต่ำเพื่อสุขภาพจากฐานการเรียนรู้นวัตกรรมอาหาร เรียนรู้วิธีคิดและการเริ่มต้นเป็น Startup ในธุรกิประเภทต่างๆ ผ่านการเรียนรู้จาก 3 ตัวแทนสตาร์ทอัพ (บริษัท ลอจิกซ์เอด จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด เดกดีไซน์ และบริษัท สยามโนวาส จำกัด) ในฐานการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ Startup, ฐานการเรียนรู้ห้องเรียนวิทย์สร้างนักประดิษฐ์ของประเทศไทย โดยโครงการสนันสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, และฐานการเรียนรู้นวัตกรรมคลื่นความถี่วิทยุกำจัดแมลงในข้าว ผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการนำองค์ความรู้และการศึกษาค้นคว้า ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยี จนได้รับการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นเทคโนโลยีทางเลือกที่สามารถจัดการปัญหาด้านคุณภาพในการเก็บรักษาข้าวโดยปราศจากการใช้สารเคมี ซึ่งช่วยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้านคุณทิพวัลย์ เวชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กล่าวว่า นอกจากฐานกิจกรรมการเรียนรู้ (STEM Base) แล้ว ในงานดังกล่าวยังเปิดโลกทัศน์ด้านการเรียนรู้ ต่อยอดธุรกิจเทคโนโลยีผ่านการจัดแสดงผลงานวิจัย ผลผลิตผู้ประกอบการ Startups และ SMEs ที่ผ่านการรับบริการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือและหน่วยงานความร่วมมืออีกจำนวนกว่า 40 บูธ ในอีก 2 โซน ประกอบด้วย Northern Science Park Tech Startup and Innovation Zone นำเสนอผลงานบริษัท Startup และผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ใช้บริการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อาทิ บริษัท บีนีท จำกัด ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ให้บริการแม่บ้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และแอปพลิเคชัน BeNeat ตัวกลางจับคู่ระหว่างแม่บ้านผู้ให้บริการและลูกค้าที่ต้องการหาคนช่วยทำความสะอาด ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยสร้างคุณค่าในอาชีพ เพิ่มรายได้ ยกฐานะปรับโฉมอาชีพแม่บ้านในอดีต ให้กลายเป็นแม่บ้านมืออาชีพ พร้อมสาธิตหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพด้านทำความสะอาดแบบครบวงจรจาก BeNeat Academy ภายใต้แนวคิดการทำธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งบัน (Sharing Economy) ที่ทุกคนรวมถึงผู้ด้อยโอกาสในประกอบอาชีพก็สามารถเป็นแม่บ้านได้เพียงผ่านการฝึกอบรม, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญไตรภพ นำเสนอผลงานนวัตกรรมสร้างสรรค์แผ่นฉนวนกันไฟด้วยวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตรจากฟางข้าว ภายใต้ชื่อ GUNFAI (Green and Fire Retardant Acoustic Insulation) ด้วยคุณสมบัติลดอุณหภูมิ ไม่ลามไฟ ซับเสียงได้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังสามารถตกแต่งลวดลายเพิ่มความสวยงามได้ตามต้องการ สามารถทิ้งลงดินได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นอาหารของปลวก นับเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง, และบริษัท ฟีดแบค 180 จำกัด บริษัทนวัตกรรมด้าน AI ที่คิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีผ่านการนำงานวิจัยด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Machine Learning และ Artificial Intelligence) ร่วมกับ Image processing ทำให้ได้ระบบที่ชาญฉลาด สามารถประเมินอารมณ์และความรู้สึกผ่านการอ่านข้อมูลในรูปแบบข้อความภาษาไทย (Thai Text Analytics) ภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหว (VDO) โดยตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจในการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าแบบ Real-Time
สำหรับ Research to Innovation from 7 NSP Universities Zone นำเสนอผลงานวิจัยเพื่อการต่อยอดนวัตกรรมโดยผ่านการสนับสนุนและรับบริการจาก 7 มหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม) อาทิ เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นผลิตวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ (biomaterial) มาตรฐานระดับนานาชาติ ASTM F1935-09 ผลงานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน (สนช.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนสนับสนุนโครงการผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์ในการสร้างห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสร้างห้องปฏิบัติการแห่งแรก ของประเทศไทยที่ได้การรับรองระบบ ISO 13485 จาก TÜV SÜD ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สามารถผลิตพอลิเมอร์มาตรฐานระดับนานาชาติได้เป็นแห่งแรกของไทย โดยปัจจุบันได้ออกจำหน่ายแล้วในราคาที่ถูกกว่าการสั่งซื้อจากต่างประเทศถึง 40 เปอร์เซ็นต์, Plasma Skin Care โดยศูนย์วิจัยฟิสิกส์พลาสมาและลำอนุภาค วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการวิจัยและสร้างต้นแบบเครื่องพลาสมาสกินแคร์แบบพกพาสำหรับดูแลผิวหน้า โดยสร้างสาร Hydroxyl (OH) ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียสาเหตุของการเกิดสิว ช่วยสร้างการผลัดเซลล์ผิวใหม่ พร้อมปรับสภาพผิว โดยไม่ก่อให้เกิดสารเคมีตกค้าง (มักพบในผลิตภัณฑ์ที่วางขายทั่วไป) พร้อมสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ โดยปัจจุบันงานวิจัยนี้อยู่ในกระบวนการจัดหานักลงทุนรับถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์