กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--สถาบันยานยนต์
สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรมในทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งรัฐมีนโยบายต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์จะมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ที่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle ซึ่งรวมถึงการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติและการเชื่อมต่อ (Automated & Connected) มาใช้ในยานยนต์ อันจะนำไปสู่แนวคิดการใช้ยานยนต์ร่วมกัน (Sharing Mobility) ต่อไปในอนาคต
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน กรรมการสถาบันยานยนต์ ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า "ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง สถาบัน ยานยนต์เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีความสามารถแข่งขันในเวทีโลก จึงมีแนวคิดจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับใหม่ (ปีพ.ศ. 2562 – 2566) เพื่อนำเสนอหน่วยงานรัฐ นำไปใช้ประกอบการวางแผนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำแผนแม่บทฯ ดังกล่าว มีกระบวนการดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ โดยในขั้นต้นจะเป็นการจัดทำภาพอนาคต (Scenario Planning) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ผ่านกระบวนการคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยี (Technology Foresight) ที่เป็นเทคนิคในการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ โดยสถาบันฯ ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมดำเนินการในขั้นนี้"
การประชุมเชิงปฏิบัติการมองอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (Thailand Automotive Industry Foresight Workshop) ในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว และนายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ กล่าวรายงาน วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 ท่านจาก 80 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ในฐานะผู้กำหนดนโยบายพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ผลิตรถยนต์ จักรยานยนต์ รถบรรทุกและรถโดยสาร รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง จากบริษัทข้ามชาติที่มีการลงทุนในประเทศไทย มีนวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ที่ทันสมัย รวมถึงบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมของคนไทย ร่วมกันแสดงความคิดเห็นภาพอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป้าหมาย ปัจจัยแห่งความสำเร็จ รวมถึงปัญหาและอุปสรรค เพื่อที่สถาบันฯ จะนำข้อมูลมารวบรวม วิเคราะห์ และนำไปจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับใหม่ ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2562
ภายในงานประชุมนี้ มีการนำเสนอผลการศึกษา แผนและเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศที่สำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องต่อประเทศไทย เช่น ประเทศจีน เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้มีข้อตกลงทางการค้า การส่งออก และนโยบายทางภาษีที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งมีผลทางตรงต่อการผลิตยานยนต์อนาคตของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อจากนี้จะแตกต่างจากอดีต ที่คำนึงถึงแต่ภาพการผลิตต้นทุนต่ำ ผลิตให้ได้จำนวนมาก เพื่อมีกำไรสูง จะเปลี่ยนเป็น การผลิตที่ต้องแข่งขันกันด้านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งกระบวนการและผลิตภัณฑ์ จึงจะเกิดกำไรสูง ดังนั้นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตที่มีศักยภาพทั้งด้านเทคนิคและการจัดการ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไทยมีความแข็งแกร่ง จะต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อสร้างกำไร อาจจำเป็นต้องหานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เข้ามาพัฒนาการผลิตเพื่อตอบสนองเทคโนโลยียานยนต์ที่ล้ำสมัย
สรุปผลการศึกษาแผนและเป้าหมายของแต่ละประเทศพบว่า เทคโนโลยีแรก คือ ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเทศที่ทำการศึกษามีเป้าหมายและนโยบายจากรัฐในการสนับสนุนอย่างชัดเจน ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ระบบขับขี่อัจฉริยะ หรือไร้คนขับ นั้น แต่ละประเทศมีการพัฒนาอยู่ในช่วงทดลองนำร่องวิ่งในถนน (Field operational test) และประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จะค่อนข้างได้เปรียบ แต่ทั้งนี้ข้อกฎหมายและระเบียบเรื่องความปลอดภัยทั้งข้อมูลและทรัพย์สิน ยังเป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆต้องรีบดำเนินการให้สอดคล้องต่อการใช้งาน
นอกจากนี้สถาบันฯ ได้รวบรวมผลการสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 20 องค์กร เพื่อให้ทราบถึงแนวคิด ความร่วมมือ อุปสรรคและปัญหา นำมาวิเคราะห์จัดทำเป็นข้อเสนอแนะ พร้อมกับผลการศึกษาฯ นำมาวิเคราะห์และสรุปจัดทำเป็นภาพอนาคต (Scenario Planning) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นสิ่งสำคัญต่อการจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมฉบับใหม่ให้มีความชัดเจนและแม่นยำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีฯ ทำให้ประเทศไทยยังคงรักษาฐานการผลิตยานยนต์เดิมและพัฒนาต่อยอดไปยังยานยนต์สมัยใหม่ได้อย่างยั่งยืน